โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงของรัฐบาลอินโดนีเซีย
ที่มาและเหตุผล
โครงการ Minapolitan เป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงที่เน้นการพัฒนาศักยภาพการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลที่ริเริ่มโดย นาย Fadel Muhammad รัฐมนตรีกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงเมื่อต้นปี 2553 โดยใช้แนวคิดการปฏิวัติสีน้ำเงิน (Blue Revolution) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกรอบความคิดของชาวอินโดนีเซียจากเดิมที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรจากพื้นดิน ไปเป็นการเพิ่มการใช้ทรัพยากรจากทะเลซึ่งมีเป็นจำนวนมากและยังมิได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ โครงการดังกล่าวได้รับแรงจูงใจจากโครงการ Agropolitan ในจังหวัด Gorontalo ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมข้าวโพดครบวงจร นอกจากนี้ จีนและญี่ปุ่น ก็เคยประสบความสำเร็จในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว
วิสัยทัศน์
ยกระดับอินโดนีเซียให้เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากปลาและผลิตภัณฑ์ทางทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2558
เป้าหมาย
ยกระดับการผลิตของอุตสาหกรรมประมงในปี 2558 ขึ้นเป็นร้อยละ 335 ของปริมาณผลผลิต 8 ล้านตัน ในปี 2552
ยุทธศาสตร์
โครงการ Minapolitan ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
- สร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานและบุคลากรทั้งในส่วนกลางจนถึงระดับท้องถิ่น
- ส่งเสริมการตลาดอย่างกว้างขวาง
- จัดตั้งโครงการพิเศษเพื่อรักษาปริมาณปลาให้ยั่งยืน
- ใช้มาตรการจูงใจสำหรับภูมิภาคที่สามารถยกระดับการผลิต โดยการจัดสรรกองทุนพิเศษ
แนวทางการดำเนินงาน
กระทรวงกิจการทางทะเลและประมงได้กำหนดโครงการนำร่องภายใต้โครงการ Minapolitan ณ เมือง Pelabuhan Ratu เขต Sukabumi จังหวัดชวาตะวันตก โดยประกาศให้เป็นเมือง Minapolitan แห่งแรก เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2553 ซึ่งเป็นวันชาวประมงของประเทศอินโดนีเซีย และเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการประกาศให้เมือง Kupang เป็นเมือง Minapolitan อีกแห่งหนึ่ง
โครงการนำร่องมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้
- เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ชุมชนประมงขนาดเล็ก
- เสริมสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ และ
- การพัฒนาเศรษฐกิจทางการประมงตามลักษณะพื้นที่ด้วยระบบบริหารจัดการแบบภูมิภาค
ตัวอย่างกิจกรรมในการดำเนินงานตามโครงการ Minapolitan ได้แก่
- การให้คำปรึกษา คำชี้แนะ และความช่วยเหลือแก่ชาวประมง โดยกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงกำลังอยู่ในระหว่างการจัดหาที่ปรึกษาให้ได้ประมาณ 800 คน เพื่อประจำโครงการ Minappolitan ทั่วประเทศ
- มีวิสาหกิจชาวประมงแบบบูรณาการ เพื่อให้ชาวประมงสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ข้อมูล อุปกรณ์ และการรวมกลุ่ม ในการทำกิจกรรม เช่น การแปรรูปสินค้าประมง เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดจากการเน่าเสียที่เหลือจากการขาย
- มีวิสาหกิจการประมงแบบบูรณาการ เพื่อควบคุมและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในด้าน กฎ ระเบียบ อุปกรณ์ และการเป็นหุ้นส่วนในวิสาหกิจขนาดย่อม
งบประมาณ
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวางแผนและพิจารณางบประมาณทั้งหมด และยังไม่สามารถประกาศจำนวนงบประมาณอย่างเป็นทางการได้
คุณสมบัติในการเป็นเมือง Minapolitan
ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ Minapolitan ได้นั้น เมืองที่สมัครจะต้องมีคุณสมบัติครบ 6 ประการ ตามที่กระทรวงกำหนด ดังต่อไปนี้
- มีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์และมีการวางแผนจัดสรรงบประมาณอย่างสมดุลภายในภูมิภาค
- มีสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพระดับสูง เช่น กุ้ง ปลา Patin ปลาดุก ปลาโอแถบ (skipjack) และสาหร่าย
- ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การทำประมง
- มีความพร้อมในห่วงโซ่การผลิตทุกระดับ ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ
- มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก
- เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พื้นที่เป้าหมาย
กระทรวงกิจการทางทะเลและประมงมีแผนที่จะจัดตั้งเมือง Minapolitan ให้ได้ 61 เมือง ภายในปี 2553 (เมืองที่พิมพ์เป็นตัวหนาและมี * ปรากฏอยู่ท้ายชื่อ) และจะขยายให้ได้ 197 เมือง ใน 33 จังหวัด ภายในปี 2557 ดังปรากฏในภาพ
แผนที่แสดงพื้นที่ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นเมือง Minapolitan
ข้อพิจารณาสำหรับนักลงทุนไทย
โดยที่แนวคิดในการดำเนินโครงการดังกล่าวเปรียบเสมือน blue print ของกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซียในการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและมูลค่าสินค้าแปรรูปสัตว์น้ำทะเล ดังนั้น หากเอกชนต่างชาติสามารถช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแปรรูปสัตว์น้ำทะเลให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น ตลอดจนสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวประมงและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องในท้องถิ่นได้ ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้เอกชนต่างชาติสามารถเข้าไปเจรจาร่วมทุนกับธุรกิจอุตสาหกรรมประมงในอินโดนีเซียได้สะดวกขึ้น ดังนั้น ภาคเอกชนไทยควรที่จะคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวหากจะเจรจาร่วมทุนทำธุรกิจประมงกับอินโดนีเซียในอนาคต
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mfa.go.th/web/1312.php?depid=207