รายงานเศรษฐกิจ ปี 2555

ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ อซ. ที่สำคัญ ไตรมาส 2/2555

1. การลงทุน

รัฐบาล อซ. แต่งตั้งประธาน Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM) คนใหม่ คือ นาย Chatib Basri เมื่อเดือน มิ.ย. 2555 แทนนาย Gita Wirjawan ซึ่งไปดำรงตำแหน่ง รมว.การค้า แต่ยังรั้งตำแหน่งประธาน BKPM ไว้ด้วย จนกระทั่ง ปธน. แต่งตั้งนาย Chatib Basri ซึ่งเดิมเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ University of Indonesia และเป็นสมาชิก Capital Investment ของ BKPM รวมทั้งเคยเป็น จนท. ในทีมงานของ รมว.กค. หลายฝ่าย รวมทั้ง คณะทูตต่างประเทศเห็นตรงกันว่า นาย Chatib Basri น่าจะทำหน้าที่ประธาน BKPM ได้ดีไม่แพ้นาย Gita Wirjawan

BKPM เปิดเผยยอดการลงทุนในไตรมาส 2/2555 ว่ามีมูลค่า 79.6 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 8.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมาจากการลงทุนจากภายในประเทศ (Domestic Direct Investment- DDI) 23.5 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 2.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมาจากการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment- FDI) 56.4 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 5.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดย FDI คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของการลงทุนทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่าการลงทุนกับไตรมาส 1/2555 ที่มีมูลค่า 51.5 ล้านล้านรูเปียห์จะพบว่าเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ ร้อยละ 9 เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนชะลอการลงทุนในอินโดนีเซีย รวมทั้ง คอยติดตามมาตรการทางการเงินและการลงทุนเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปของอินโดนีเซีย

ภาพรวมการลงทุนของอินโดนีเซียในครึ่งแรกของปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 148.1 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 15.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมาจากการลงทุนภายในประเทศ (DDI) 40.5 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมาจากการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 107.6 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 11.37 พันล้านดอลลาร์) ประเทศซึ่งลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด 3 ลำดับแรกได้แก่ สิงคโปร์ (7.2 ล้านล้านรูเปียห์หรือประมาณ 762 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สหรัฐอเมริกา ( 6.7 ล้านล้านรูเปียห์หรือประมาณ 709 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และออสเตรเลีย (5.7 ล้านล้านรูเปียห์หรือประมาณ 603 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้

  1. เหมืองแร่ มูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 17.5
  2. Chemical and Pharmaceuticals มูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ร้อยละ 11.4
  3. Transport, storage and Telecommunications มูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ
  4. Metal, machinery and electronics มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 8.4
  5. Food crops and plantations มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 8.3

ภาคการลงทุนของอินโดนีเซียเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เพราะเงินลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นถึงกว่าร้อยละ 70 จึงค่อนข้างเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกโดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีนและอินเดีย ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติปรับแผนการลงทุนในอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอินโดนีเซียได้รับการปรับลำดับการลงทุนเป็น "น่าลงทุน" จาก Fitch และ Moody จึงต้องจับตาดูว่าตลาดเงินและตลาดทุนของอินโดนีเซียจะมีเงินไหลเข้า-ออกอย่างไร ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตได้ชัดว่า ตลาดเงินและตลาดทุนของอินโดนีเซียอ่อนไหวต่อข่าววิกฤตเศรษฐกิจโลกมาก

2. การค้าระหว่างประเทศ (imported demand to decline)

กระทรวงการค้าเปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 2555 ยอดการส่งออกและนำเข้าของอินโดนีเซีย คิดเป็นมูลค่า 81.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและ 79.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ จึงเกินดุลการค้า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าวิกฤตการณ์เศรษฐกิจยุโรปซึ่งเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2555 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอินโดนีเซียเช่นเดียวกับไทย เมื่อเดือน เม.ย. 2555 อินโดนีเซียประสบกับภาวะการขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรก หลังจากที่เคยประสบเมื่อสองปีก่อน (เดือน ก.ค. 2553) โดยขาดดุล 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในเดือน พ.ค.2555 ก็ขาดดุลต่อเนื่องอีก 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อินโดนีเซีย เกินดุลการค้าระหว่างเดือน ม.ค. – พ.ค. 2555 มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน สหรัฐฯ และอินเดียการค้า อซ. จึงคาดว่า ดุลการค้าของประเทศในปีนี้จะเกินดุลเพียงประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ในปี 2554 ดุลการค้าอินโดนีเซียเกินดุล 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สาเหตุความต้องการสินค้าอินโดนีเซียของประเทศนำเข้า อาทิ อเมริกา สหภาพยุโรป จีน อินเดีย ลดลงเพราะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ ราคาสินค้าซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของอินโดนีเซียในตลาดโลก เช่น ปาล์มน้ำมัน ยาง ราคาลดต่ำลงเพราะความต้องการในตลาดโลกลดลง จึงทำให้รายได้จากการส่งออกของอินโดนีเซียลดต่ำลงด้วย แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังขยายตัวได้ดีเพราะภาคการบริโภคภายในยังขยายตัวได้ ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศยังขยายตัว

3. การบริหารการคลังและการธนาคาร

กระทรวงการคลังอินโดนีเซียเปิดเผยว่า อัตราการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ค่อนข้างต่ำ คิดเป็นวงเงิน 393.9 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 41,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือร้อยละ 36.8 จากยอดงบประมาณทั้งหมดที่กำหนดไว้ 1,069.5 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่คาดว่าอัตรา การใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล คิดเป็นประมาณ 593.3 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 62,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือร้อยละ 43.7 จากเป้าหมายการจัดเก็บที่กำหนดไว้ 1,358.2 ล้านล้านรูเปียห์ (143,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่เติบโตค่อนข้างดี จึงทำให้เก็บภาษีเงินได้จากประชากรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นขึ้นและค่าอากรนำเข้าสินค้าซึ่งเพิ่มขึ้นตามสถิติการนำเข้าของประเทศ

ร่ายจ่ายรัฐบาลในหมวดเงินทุนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีมูลค่าประมาณ 30.6 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ3.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือร้อยละ 18.2 ในขณะที่ใช้จ่ายเงินหมวดงบประมาณเพื่อการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลับสูงถึง 88.9 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 9.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือร้อยละ 64.7 ของงบอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงของปี 2555 ที่กำหนดไว้ที่มูลค่า 137.4 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่ง กระทรวงการคลังอินโดนีเซียคาดว่า รัฐบาลจะต้องใช้จ่ายเงินงบอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอีก 127.9 ล้านล้าน รูเปียห์ (ประมาณ 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งจะทำให้ยอดเงินอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมดของปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 216.8 ล้านล้านรูเปียห์ (22,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือสูงกว่างบอุดหนุนที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 57.8 ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลเพื่อการดำเนินโนบายการคลังในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปน่าจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศของภาครัฐได้ผลไม่มากเท่าการกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ

ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศเมื่อเดือน มิ.ย. 2555 ว่าจะออกกฎระเบียบเพื่อจำกัดสัดส่วนการครอบครองกิจการของนักลงทุนต่างชาติในกิจการธนาคารพาณิชย์อินโดนีเซียหลังจากที่ธนาคาร DBS Singapore ในกลุ่มธุรกิจ Temasek ประกาศแผนครอบครองการลงทุนร้อยละ 67.4 ของกิจการธนาคาร Danamon ของอินโดนีเซียซึ่งมีขนาดกิจการขนาดใหญ่ลำดับที่หกของประเทศเนื่องจากได้รับการต่อต้านจากกลุ่มนักการเมืองและธนาคารท้องถิ่นในประเทศจนทำให้ธนาคาร DBS Singapore ต้องชะลอแผนดังกล่าว ขณะเดียวกันกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในกิจการการเงินและการธนาคารค่อนข้างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่าอินโดนีเซียต้องการออกกฎระเบียบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตามกระแสเศรษฐกิจแบบชาตินิยมจึงพากันชะลอการลงทุนเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2555 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศกฎระเบียบจำกัดการถือครองกิจการธนาคาร โดยอนุญาตให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถถือครองกิจการธนาคารในอินโดนีเซียได้ไม่เกินร้อยละ 40 หากประสงค์จะถือครองเกินสัดส่วนดังกล่าวจะต้องขอรับอนุญาตเป็นรายกรณีจากธนาคารกลางอินโดนีเซียซึ่งจะพิจารณาตามกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ในกฎระเบียบจนทำให้ธนาคาร DBS Singapore สามารถเดินหน้าตามขั้นตอนต่อไปได้

4. อุตสาหกรรมเหมืองแร่และถ่านหิน

รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงทรัพยากรและเหมืองแร่ในไตรมาส 2/2555 อย่างเป็นทางการ โดยผู้ประกอบการเหมืองแร่ยกเว้นเหมืองถ่านหิน จะต้อง

  1. ต้องเสียภาษีส่งออกร้อยละ 20 หากมิได้แปรรูปสินแร่ 65 รายการที่ระบุไว้ในข้อกำหนด
  2. ต้องได้รับการรับรองสถานะ clean and clear ตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและกฎหมายจากรัฐบาลกลางและท้องถิ่น
  3. ต้องยื่นแผนก่อสร้างโรงงานหลอมสินแร่ เพื่อแปรรูปก่อนการส่งออก (smelter)

การบังคับใช้กฎกระทรวงฯ กระทบต่อยอดการส่งออกสินแร่ของประเทศซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 16 ของการส่งออกสินค้าประเภทที่มิใช่น้ำมันและก๊าซ (non - oil and gas) ของปี 2554 โดยสำนักงานสถิติอินโดนีเซียเปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกสินแร่ในเดือน เม.ย. 2555 ลดลงประมาณ 2.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 6.94 จากไตรมาส 1/2555 ซึ่งสามารถส่งออกสินแร่ได้ประมาณ 2.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.24 จากปี 2554 ทั้งนี้ กระทรวงการค้าเปิดเผยว่า สินแร่ 3 ลำดับแรกที่ได้รับผลกระทบ และปริมาณส่งออกลดต่ำมากที่สุดคือ

  1. บ็อกไซต์ ซึ่งส่งออกเพียง 2.36 ล้านตันในเดือน พ.ค. และแทบจะไม่มีการส่งออกในเดือน มิ.ย. 2555
  2. ทองแดง ลดลงร้อยละ 90 จากปริมาณ 193,941 ตันในเดือน พ.ค. จนเหลือเพียง 20,000 ตันในเดือน มิ.ย. และ
  3. นิกเกิล ลดลงร้อยละ 80 จากปริมาณ 2.8 ล้านต้นในเดือน พ.ค. จนเหลืออยู่ 572,160 ตันในเดือน มิ.ย.

การส่งออกสินแร่ที่ลดลงจากการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ สร้างความไม่พอใจต่อภาคเอกชนอินโดนีเซียในอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอย่างมากเพราะนอกจากจะทำให้สูญเสียรายได้ไปแล้วกว่า 107 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาคเอกชนยังประสบปัญหาต่อการการก่อสร้างโรงหลอมสินแร่อีกด้วยเนื่องจาก

  1. อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ส่วนใหญ่อยู่นอกเกาะชวาซึ่งมีข้อจำกัดในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ไฟฟ้า) ไม่เพียงพอสำหรับการแปรรูปในโรงหลอมฯ หากจะหลีกเลี่ยงโดยการตั้งโรงหลอมที่เกาะชวาก็จะทำให้ต้นทุนประกอบการสูงขึ้นเพราะค่าขนส่งวัตถุดิบ
  2. กฎเกณฑ์ในการขอรับสถานะ clean and clear มักเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นเสมอทำให้บริษัทเหมืองแร่ส่วนใหญ่ยังคงรอรับการรับรองอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งสมาคมผู้ประกอบการเหมืองแร่อินโดนีเซียเปิดเผยว่าบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ จำนวน 10,235 รายได้รับการรับรองดังกล่าวเพียง 4,151 ราย แม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาตรการด้านการลงทุนเพื่อช่วยเหลือ อาทิ การยกเว้นภาษีการลงทุนและภาษีเงินได้รวมถึงการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการแปรรูปและผลิตกระแสไฟฟ้าแต่ภาคเอกชนเห็นว่ามาตรการดังกล่าวอาจไม่มีประโยชน์เพราะความไม่พร้อมของสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งนี้ รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ปลายน้ำในระยะยาวและได้เปิดเผยความคืบหน้าสถานะปัจจุบันว่า โรงหลอม 19 แห่งสามารถเริ่มการผลิตระหว่าง 2012-2017 อีก 7 แห่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง อีก 6 แห่งอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง และอีก 6 แห่งได้รับใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว

สถานะการผลิตและส่งออกถ่านหินในไตรมาส 2/2555 ค่อนข้างดีกว่าภาคสินแร่ถึงแม้ว่าต้องแปรรูปถ่านหินก่อนเช่นกัน กรมแร่ธาตุและถ่านหินอินโดนีเซียเปิดเผยปริมาณ การส่งออกถ่านหินในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 อยู่ที่ 150 ล้านตันหรือคิดเป็นร้อยละ 45.2 ของเป้าหมายการส่งออกถ่านหินของรัฐบาลในปีนี้ แบ่งเป็นถ่านหินสำหรับการใช้ประโยชน์ภายในประเทศ 30 ล้านตันและส่งออกตลาดต่างประเทศ 120 ล้านตัน ได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน ไทยและ ศรีลังกา


31 กรกฎาคม 2555
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา