รายงานเศรษฐกิจ ปี 2555
ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซีย รอบไตรมาส 3/2555, 4/2555
ภาพรวมเศรษฐกิจปี ๒๕๕๕ และการคาดการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ปี ๒๕๕๖
๑. ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคของอินโดนีเซีย
๑.๑ ธนาคารกลางอินโดนีเซียเปิดเผยว่า เศรษฐกิจไตรมาส ๓/๒๕๕๕
เติบโตร้อยละ ๖.๒ โดยการบริโภคภายในคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๕๐.๕ และการลงทุนต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๓๙ ของการขยายตัว ซึ่งแม้อัตราการขยายตัวจะลดจากไตรมาส ๑/๒๕๕๕ (ร้อยละ ๖.๓) และไตรมาสที่ ๒/๒๕๕๕ (ร้อยละ ๖.๔) อินโดนีเซียยังสามารถรักษาการเติบโตที่สูงกว่าร้อยละ ๖ ติดต่อกันถึง ๘ ไตรมาส ธนาคารกลางจึงประเมินว่าอัตราการเติบโตปี ๒๕๕๕ น่าจะอยู่ที่ร้อยละ ๖.๓ อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีค่าเงินรูเปียห์อ่อนตัวลงอย่างมาก โดยอยู่ที่ประมาณ ๙,๗๐๐ รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุอาจเพราะในปี ๒๕๕๕ อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนมาก (ตัวเลขถึงไตรมาส ๓ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ ๕.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ ๒.๔ ของ GDP) จนถึงสิ้นปี ๒๕๕๕ ธนาคารกลางคาดว่าน่าจะขาดดุลประมาณ ร้อยละ ๒.๒-๒.๓ ของ GDP สำหรับอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๔.๖ นอกจากนี้ ความต้องการนำเข้าสินค้าของผู้นำเข้าอินโดนีเซียทำให้ต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปริมาณมาก ความต้องการดอลลาร์จึงสูงส่งผลให้ค่าเงินรูเปียห์อ่อนลงเพราะผู้นำเข้าจะต้องนำรูเปียห์ไปซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการของตน
๑.๒ การลงทุนต่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในปี ๒๕๕๕
ควบคู่กับการบริโภคภายใน เนื่องจากกลุ่มชนชั้นกลางขยายตัวอย่างต่อเนื่องจึงกระตุ้นอุปสงค์ภายในอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทที่ปรึกษา McKinsey ประเมินว่า ชนชั้นกลางซึ่งมีรายได้ต่อหัวประมาณ ๓,๕๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี จะเพิ่มจาก ๔๕ ล้านคนในปี ๒๐๑๐ ไปสูงถึง ๑๓๕ ล้านคนในปี ๒๐๓๐ และในปี ๒๐๓๐ คนอินโดนีเซียจะใช้จ่ายและออมเป็นวงเงินถึง ๕๖๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มกว่า ๖ เท่าจาก ๘๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ๒๐๑๑ สำหรับภาคเศรษฐกิจที่เติบโตมาก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ มีอัตราการขายร้อยละประมาณ ๙๒.๕ ในปี ๒๕๕๕ และยานยนต์ โดยช่วง ๑๐ เดือนแรกของปี ๒๕๕๕ จำหน่ายไปแล้วเป็นจำนวน ๙๒๓,๑๓๒ คันและน่าจะจำหน่ายได้ถึง ๑,๐๕๐,๐๐๐ คันจนถึงสิ้นปี สูงกว่ายอดประมาณที่เคยประมาณไว้ที่ ๙๔๐,๐๐๐ คัน ในขณะที่การค้าระหว่างประเทศของอินโดนีเซียแม้จะขยายตัวได้ แต่ก็ประสบปัญหาขาดดุลการค้า (ตัวเลขเดือน ต.ค. ขาดดุลการค้า ๑.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพราะนอกจากอุปสงค์และราคาสินค้าส่งออกในตลาดโลก เช่น ปาล์มน้ำมัน และถ่านหินลดลงแล้ว อินโดนีเซียยังมียอดนำเข้าสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรและบริการ กระทรวงการค้าเปิดเผยว่า อินโดนีเซียขาดดุลการค้าให้กับ ๓ ประเทศหลัก คือ จีนจำนวน ๗.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยจำนวน ๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ๔.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
๑.๓ BKPM เปิดเผย ยอดการลงทุน (ทั้งในและต่างประเทศ) ในอินโดนีเซียไตรมาส ๓/๒๕๕๕
มีมูลค่า ๘.๕๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น FDI ประมาณ ๕.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ ๕๖.๖ ล้านล้านรูเปียห์ FDI ไตรมาส ๓/๒๕๕๕ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๒ จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และส่วนใหญ่มุ่งไปสาขาการผลิตและเหมืองแร่ นอกจากนี้ ยอดรวม FDI ทั้งสามไตรมาส คิดเป็นมูลค่า ๑๗.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ ๑๖๔.๒ ล้านล้านรูเปียห์ น่าจะเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ ๒๐๖.๘ ล้านล้านรูเปียห์ ธนาคารกลางประเมินว่าการลงทุนในปี ๒๕๕๕ จะเติบโตร้อยละ ๑๐.๗ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๓ ธ.ค. ที่ผ่านมา บริษัท Fitch Ratings ได้ปรับระดับความน่าเชื่อถือการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก BBB- Positive outlook เป็น BBB- Stable outlook ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม แม้ในปีที่ผ่านมาจะเกิดเหตุแรงงานอินโดนีเซียก่อการประท้วงรุนแรงเพื่อเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงเกือบทุกไตรมาสก็ตาม
๒. มาตรการสำคัญที่รัฐบาลอินโดนีเซียดำเนินการในปี 2555
๒.๑ มาตรการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างระมัดระวัง (Macro prudential policy) ได้แก่
- (๑) การปรับลดนโยบายดอกเบี้ยลงจากร้อยละ ๖ เป็นร้อยละ ๕.๗๕ เมื่อเดือน ก.พ. ๒๕๕๕ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาระดับเงินเฟ้อให้อยู่ที่ร้อยละ ๔.๕-๕.๕ ซึ่งค่อนข้างได้ผล โดยอัตราเงินเฟ้อไตรมาส ๓ อยู่ที่ร้อยละ ๔.๕๙
- (๒) การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนโดยเข้าแทรกแซงการผันผวนของเงินรูเปียห์ แต่ก็ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเป็นลำดับตั้งแต่ครึ่งแรกของปี ๒๕๕๕ จนอยู่ที่ ๑๐๖.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เนื่องจาก FDI ไตรมาส ๓ เพิ่มขึ้นจึงทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศปรับสูงขึ้นเป็น ๑๑๐.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. ๒๕๕๕
- (๓) มาตรการควบคุมให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์นำเงินกลับเข้ามาฝากกับธนาคารในประเทศเพื่อเพิ่มเงินสกุลดอลลาร์ในประเทศให้มากขึ้นเพื่อลดการผันผวนของค่าเงิน
- (๔) มาตรการกำหนดวงเงินขั้นต่ำในการขอสินเชื่อ (Down Payment) โดยจะต้องจ่าย down payment ที่ร้อยละ ๒๐-๒๕ สำหรับการซื้อยานพาหนะและร้อยละ ๓๐ สำหรับที่พักอาศัย
- (๕) การขอให้รัฐสภาเห็นชอบให้รัฐบาลสามารถปรับขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุน หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงกว่าร้อยละ ๑๐ ของราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ในกฎหมายงบประมาณ (เท่ากับราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงกว่า ๑๒๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาเรลติดต่อกัน ๖ เดือน)
๒.๒ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม
เพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการและนักลงทุนท้องถิ่น ซึ่งมีนัยเชิงปกป้องอุตสาหกรรมภายใน (economic nationalism) เพราะคนอินโดนีเซียส่วนใหญ่เห็นว่าชาวต่างชาติได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงมาตรการต่างๆ ส่งผลในเชิงลดทอนบรรยากาศการลงทุนมากกว่าส่งเสริม มาตรการดังกล่าว ได้แก่
- การจำกัดจุดนำเข้าสินค้าเกษตรประเภทพืช ผักและผลไม้ ที่ระบุไว้กว่า ๑๐๐ รายการ โดยสินค้าดังกล่าวต้องผ่านการรับรองสุขอนามัย และได้รับการอนุญาตให้นำเข้าจาก ก. เกษตร (import permit) ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้รับการต่อต้านอย่างมาก จนทำให้รัฐบาลต้องชะลอการบังคับใช้ตั้งแต่เดือน เม.ย. เรื่อยมาจนกระทั่งประกาศบังคับเมื่อเดือน ต.ค. ๒๕๕๕ สินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ หอมแดง เพราะไม่สามารถนำเข้าที่ท่าเรือที่กรุงจากาตาร์ได้ เว้นแต่การทำ MRA หรือ การรับรอง Pest Free Zone จะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังมีนัยส่งผลถึงผลไม้ไทยที่ไม่อยู่ในรายการที่ ก. เกษตรฯ ประกาศ ๑๐๐ รายการด้วย เพราะ ก. การค้าซึ่งดูแลการนำเข้าส่งออก เห็นว่า แต่ละปีอินโดนีเซียนำเข้าพืชเกษตรเมืองร้อนจากจีนและไทยจำนวนมาก จึงประกาศกฎกระทรวงฯ รองรับมาตรการดังกล่าว โดยกฎกระทรวงการค้าดังกล่าว รวมทุเรียนและลำไยไว้ด้วย จึงทำให้การในนำเข้าทุเรียนและลำไย ผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการตามกฎดังกล่าวด้วย กล่าวคือ ผู้นำเข้า (ซึ่งหากไม่ใช่ผู้ผลิต) จะต้องมีคลังสินค้าเป็นของตนเอง / การนำเข้าแต่ละครั้งจะต้องได้รับ Import Permit จาก ก. เกษตร/ และสินค้าจะต้องถูกตรวจโดย Surveyor ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ก. การค้า จึงทำให้ต่อไปการนำเข้าผลไม้ไทย ซึ่งเป็นผลไม้สำคัญในตลาดอินโดนีเซีย เช่น ทุเรียน ลำไย อาจได้รับผลกระทบและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
- กฎระเบียบธนาคารกลางที่ประกาศเมื่อเดือน พ.ย. ๒๕๕๕ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๕๖ ต่อธนาคารต่างประเทศ รวมถึงธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีสำนักงานที่กรุงจาการ์ตาและเมืองสุราบายา ให้มีวงเงิน Capital Equivalent Maintained Assets (CEMA) ที่ร้อยละ ๘ ของสินทรัพย์ในรายการหนี้สินของธนาคาร (liability) / กฎระเบียบให้การจัดสรรสินเชื่อร้อยละ ๒๐ ให้กับลูกค้าประเภท SMEs เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุนในภาค SMEs / กฎระเบียบที่กำหนดให้ธนาคารต้องขอใบอนุญาตในการประกอบธุรกรรมแต่ละรายการ (multi-licensing) แทนระบบเดิมที่ใบอนุญาตเพียงใบเดียวสามารถดำเนินการได้ทุกอย่าง / กฎระเบียบให้ธนาคารต่างชาติจะต้องจดทะเบียนในลักษณะบริษัทจำกัดตามกฎหมายอินโดนีเซีย หากเป็นลักษณะสาขา (foreign branch) จะต้องวางวงเงินในวงเงินประมาณ ๓๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้ธนาคารต่างชาติอยู่ภายใต้ข้อจำกัดการแข่งขันเช่นเดียวกับธนาคารท้องถิ่น / กฎระเบียบจำกัดการถือครองหุ้นในธนาคารไม่ให้เกินร้อยละ ๔๐ หากเป็นสถาบันการเงิน และร้อยละ ๓๐ หากเป็นบริษัทแต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมทั้ง ผ่อนคลายระเบียบเรื่อง single presence on national bank เพื่อในอนาคตธนาคารในอินโดนีเซียอาจเกิดการควบรวมมากขึ้น ซึ่งหากธนาคารใดไม่ผ่านเกณฑ์ governance ที่ธนาคารกลางกำหนด (ตรวจสอบทุก ๖ เดือน) ติดต่อกันเกิน ๓ ครั้งจะต้องถูกบังคับให้ควบรวมกับธนาคารอื่นที่มีการดำเนินการดีกว่า
- กฎระเบียบที่ประกาศเมื่อเดือน ก.พ. ๒๕๕๕ กำหนดให้บริษัทต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ต้องดำเนินการถ่ายโอนสิทธิการถือครองกิจการให้เหลือไม่เกินร้อยละ ๕๑ ภายในระยะเวลา ๑๐
- กฎระเบียบการรับรองสินค้าฮาลาลที่จำหน่ายในอินโดนีเซียโดย MUI ซึ่งเดิมกำหนดจะประกาศในเดือน ต.ค. ๒๕๕๕ แต่ยังไม่ได้ประกาศจนถึงปัจจุบัน โดยต่อไปสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และเวชภัณฑ์เครื่องสำอางค์จะต้องผ่านการรับรอง
ฮาลาลโดย MUI/LPPOM ก่อนวางจำหน่ายในท้องตลาด อย่างไรก็ดี ร่างกฎระเบียบดังกล่าวในขณะนี้ มีข้อนึงกำหนดว่า หากสินค้าผ่านการรับรองฮาลาลจากประเทศต้นกำเนิดสินค้าก็จะไม่ต้องขอรับการรับรองจาก MUI อีก อย่างไรก็ตามกรณีนี้ เป็นปัญหาอยู่มากในปัจจุบัน เนื่องจากทางการอินโดนีเซียต้องการรักษาความเป็นผู้มีอำนาจเพียงผู้เดียวในการรับรอง ข้อบทดังกล่าวจึงน่าจะยากที่จะผ่านการพิจารณา
๓. การคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี ๒๕๕๖
ธนาคารกลางประเมินว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียปี ๒๕๕๖ น่าจะเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ ๖.๓-๖.๗ โดยอาศัยปัจจัยหลัก คือการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งคาดว่าน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ ๑๑.๖-๑๒ ในขณะที่การบริโภคภายในน่าจะเติบโตระหว่างร้อยละ ๕-๕.๔ BKPM ตั้งเป้าการลงทุนโดยรวมสูงกว่าปี ๒๕๕๕ ที่ประมาณร้อยละ ๒๕ คิดเป็นมูลค่า ๔๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
และคาดว่า กว่าร้อยละ ๗๕ ของการลงทุนจะเป็นFDI ซึ่งน่าจะมีมูลค่าประมาณ ๓๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหวังว่าจะดึงดูดบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ให้เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น TOYOTA และ BMW และในอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค เช่น L’Oreal Nestle Procter&Gamble ในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ เช่น Foxconn Technology นอกจากนี้ อาจปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับญี่ปุ่นโน้มน้าวให้บริษัทญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตในจีนมาที่อินโดนีเซีย
๔. ข้อคิดเห็น
๔.๑ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในปี ๒๕๕๗ จะทำให้รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจแบบประชานิยมและชาตินิยม จึงน่าจับตานโยบายที่จะเข้าข่ายดังกล่าว เช่น
- (๑) การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. ๕๕ ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็น labor-intensive มีต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
- (๒) การคงการอุดหนุนราคาน้ำมันอุดหนุนเพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว แต่หากขึ้นราคาจะกระทบฐานเสียงประชาชนโดยรวม แต่การใช้นโยบายดังกล่าวก็จะเพิ่มภาระทางงบประมาณให้รัฐบาล และทำให้รัฐไม่สามารถนำเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งเป็นจุดอ่อนของประเทศที่สำคัญกว่า
๔.๒ การประกาศใช้มาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายใน น่าจะมีเพิ่มขึ้นเห็นได้จาก รมว. การค้าเผยจะเน้นนโยบาย
- (๑) การเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก
- (๒) การส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า
- (๓) การคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ เนื่องจากมีนัยต่อการรักษาสถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้ขาดดุล
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวมีนัยทั้งโดยตรงและมีผลทางจิตวิทยาต่อการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ซึ่งหากรัฐบาลประกาศมาตรการดังกล่าวจำนวนมาก และขาดเหตุผลอาจกระทบกับปริมาณการลงทุนต่างประเทศ
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา