รายงานเศรษฐกิจ ปี 2556

รายงานเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไตรมาส 2/2556

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

1.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาสที่ 1/2556 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.02 ต่ำกว่าที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.2

ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับแต่ ก.ย. 2553 จึงทำให้ธนาคารกลางปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ อซ. ในปี 2556 เหลือร้อยละ 5.8-6.2 สาเหตุอาจมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการขึ้นราคาน้ำมัน จึงทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง ในขณะที่ส่งออกได้น้อยลง และเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศส่งสัญญาณเริ่มชะลอตัว แต่รัฐบาลยังคงเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าที่ร้อยละ 6.3 ทั้งนี้ Standard and Poor ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจากระดับ “positive” เป็น “stable” จากการชะงักงันของการปฏิรูป

สำนักงานสถิติแห่งชาติยังไม่ประกาศตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 อย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าน่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 5.9-6.0 ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ รมว.กค. คนใหม่ (นาย Chartib Basri) ก็ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจลงจากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ โดยในร่างกฎหมายงบประมาณปี ค.ศ. 2013 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ปรับลดอัตราการเจริญเติบโตทั้งปีเป็นร้อยละ 6.2 จากเดิม 6.8 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.2 ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ประมาณ 840,000 บาเรล/วัน อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 9,600 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ

1.2 อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 5.9 (YoY)

ในขณะที่เดือน พ.ค. ร้อยละ 5.47 และ เม.ย. ร้อยละ 5.57 สะท้อนค่าในแนวเพิ่มสูงขึ้น  ธนาคารกลางคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. จะปรับสูงขึ้นอีกอาจจะถึงร้อยละ 7.2 เพราะเป็นช่วงรอมฎอน และรัฐบาลพึ่งปรับขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุนจาก 4,500 รูเปียห์/ลิตร เป็น 6,500 รูเปียห์/ลิตร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 44) และน้ำมันดีเซลจาก 4,500      รูเปียห์/ลิตร เป็น 5,500 รูเปียห์/ลิตร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22) ดังนั้น เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อธนาคารกลางจึงตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในเดือน มิ.ย. โดยครั้งแรกปรับเพิ่มร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 5.75 เป็น 6.0 และครั้งที่สอง ปรับเพิ่มอีกร้อยละ 0.5 โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ ร้อยละ 6.5 และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับธนาคารกลาง (deposit facility rate) หรือรู้จักในอินโดนีเซียในนาม FASBI จากร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 4.25 และปรับเพิ่มอีกครั้งเป็นร้อยละ 4.75 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ / รักษาเสถียรภาพค่าเงินและเพิ่มสภาพคล่องให้กับเงินรูเปียห์ ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุน ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารกลางภายใต้การนำของนาย Agus Martowadojo ผู้ว่าการฯ คนใหม่ (อดีต รมว.กค.) จะหันไปใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด แทนนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนที่ธนาคารกลางเคยใช้มา

อัตราแลกเปลี่ยน เงินสกุลรูเปียห์ในเดือน มิ.ย. 2556 ปรับตัวอยู่ในช่วง 9,800-9,900     รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าลงแตะระดับ 10,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 2556 ต่ำสุดที่ 10,255 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2556 ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอาจอ่อนค่าถึงระดับ 10,500 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในช่วงนี้ ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปี และอ่อนค่าลงไปแล้วถึง ร้อยละ 5.7 (เคยอ่อนค่าถึง 10,200 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง ก.ค. 2009 ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ) และเป็นสกุลเงินที่มีสถานะ (perform) แย่ที่สุดในภูมิภาค

ทุนสำรองระหว่างประเทศ เดือน มิ.ย. ลดต่ำสุดจากระดับที่เคยมีมา ปัจจุบันอยู่ที่ 98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นครั้งแรกที่ทุนสำรองระหว่างประเทศลดต่ำกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 ซึ่งเทียบเท่ากับสามารถชำระค่าสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ 5.5 เดือน สาเหตุหลักมาจากการแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์อย่างหนักของธนาคารกลาง

1.3 ในช่วง ม.ค. – พ.ค. 2556 อซ. ขาดดุลการค้า 2,527 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยได้ดุลการค้า 1,796 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สาเหตุมาจากการส่งออกที่ถดถอยลง แม้ว่าการนำเข้าจะลดลง มูลค่าการส่งออกรวม 76.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 6.46) แต่มูลค่าการนำเข้า 78.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 1.18) ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าประเภททุนก็ลดลงเช่นกัน (ลดลงร้อยละ 17.31 ระหว่าง ม.ค.-เม.ย. 2556) เป็นสัญญาณว่าการลงทุนในอินโดนีเซียน่าจะขยายตัวลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านดัชนีภาคการผลิต (Manger’s Purchasing Index) เดือน พ.ค. อยู่ที่ร้อยละ 51.6 ใกล้เคียงกับเดือน เม.ย. ที่ร้อยละ 51.7 และน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไม่เติบโตตามเป้าที่วางไว้ จึงทำให้ในชั้นนี้ นักวิเคราะห์หลายสถาบันต่างทะยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจอินโดนีเซียทั้งปีลงมาอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 6.2 หรือต่ำกว่า นอกจากนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ อินโดนีเซียขาดดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) ถึง 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขาดดุลการชำระเงินครั้งแรกนับแต่ไตรมาส 4/2551 และถือเป็นการขาดดุลการชำระเงินที่สูงที่สุดมากกว่าที่เคยขาดดุลการชำระเงินในปี ค.ศ. 2008 เพราะในขณะนั้นขาดดุลการชำระเงินเป็นจำนวน 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขณะนี้ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวน 5.27 พันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ขาดดุลเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน) จากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าน้ำมัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่า เมื่อปรับขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุนแล้ว จะทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือประมาณร้อยละ 2.48 ของ GDP จากเดิมหากไม่ปรับอาจสูงถึงร้อยละ 3.83 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ตามวินัยการคลังของอินโดนีเซีย

1.4 การลงทุนจากต่างประเทศในไตรมาส 2/2556 อยู่ที่ประมาณ 7.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากไตรมาส 1/2556 สาขาหลักที่การลงทุนเข้าไป ได้แก่ เหมืองแร่ ขนส่ง โลหะ และเคมีภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม นับเป็นครั้งแรกที่การลงทุนในประเทศ (DDI) เพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสนี้ถึงร้อยละ 59.1 และขยายตัวมากกว่าการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งนาย Basri (รมว.กค. และรักษาการประธาน BKPM) ให้ข้อสังเกตว่า วิถีดังกล่าว สะท้อนค่านิยมของนักลงทุนท้องถิ่นที่มักลงทุนตามหลังนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ BKPM เห็นว่า เป้าการลงทุนจากต่างประเทศปีนี้น่าจะได้ตามเป้า แม้ว่าจะขยายตัวลดลง โดยหากคำนวณว่า FDI ครึ่งปีแรกคิดเป็นร้อยละ 49 ของเป้าการลงทุนในปี 2556 ที่ประมาณ 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงไตรมาส 2/2556

2.1 การปรับราคาน้ำมันอุดหนุน

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2556 รัฐบาลได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุนเพื่อลดภาระทางงบประมาณของรัฐ จึงทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มเป็น 5,500 รูเปียห์ (17 บาท) ต่อลิตร และน้ำมันเบนซินประเภทพรีเมียม ปรับเพิ่มเป็น 6,500 รูเปียห์ (20 บาท) ต่อลิตร โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบในลักษณะเงินชดเชยให้กับผู้ยากจน มูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้ ประมาณ 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกนำไปใช้ในโครงการสวัสดิการสังคม อาทิ โครงการข้าวเพื่อคนยากจน (Raskin Program) และทุนการศึกษา นอกจากนี้ จะแจกเป็นคูปองเงินสด (cash aid) ประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และที่เหลือจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การชลประทานและการบำบัดน้ำเสีย

การปรับขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุนส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นโดยปริยาย เห็นได้จากค่าโดยสารรถสาธารณะภายในเมืองและระหว่างจังหวัดปรับขึ้นประมาณร้อยละ 15 โดยผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาได้อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะในกรุงจาการ์ตาทุกประเภทประมาณร้อยละ 15-50 ในขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะทางน้ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 17 ราคาอาหารหลัก อาทิ ข้าว ไก่ เนื้อวัว ปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11.46 (YoY) จึงทำให้ประชาชนในเขตจาการ์ตาและปริมณฑลลดการใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถไฟมากขึ้น

2.2 มาตรการผ่อนคลายการจำกัดการนำเข้าสินค้าพืชสวน

กระทรวงเกษตร และกระทรวงการค้า ได้ออกประกาศควบคุมการนำเข้าสินค้าพืชสวนฉบับใหม่เลขที่ 47/2013 และ 16/2013 ตามลำดับ แทนประกาศเดิมตามโทรเลขที่อ้างถึง สาระสำคัญ คือ เปลี่ยนการจำกัดปริมาณนำเข้าเป็นการควบคุมผ่านการออกใบอนุญาตการนำเข้าให้แก่ภาคเอกชน และให้โควต้าโดยคำนึงถึงฤดูกาลของสินค้าในอินโดนีเซีย และอนุญาตให้พืชสวน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม กระหล่ำ กล้วยไม้ ดอก heliconia และดอกเก๊กฮวยเป็นสินค้าที่นำเข้าได้ไม่ต้องมีโควต้า เพราะเป็นสินค้าที่อินโดนีเซียขาดแคลน ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2556 กระทรวงการค้าประกาศให้เอกชนนำเข้าพืชสวนสำคัญเพิ่มเติม อาทิ พริก หอมใหญ่ และหอมแดง รวมถึงผลไม้เช่นส้ม แอปเปิ้ล และ grapefruit เนื่องจากไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะพริก กระเทียม และหอมแดง ราคาสูงขึ้นถึง 5-6 เท่า และเป็นปัจจัยทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตามไปด้วย

3. ข้อสังเกต

3.1 การตัดสินใจปรับขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุน ถือเป็นการตัดสินใจทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของรัฐบาล

เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีนัยทางการเมืองสูง และรัฐบาลเคยพยายามดำเนินการมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ถูกต่อต้านอย่างมาก การดำเนินการสำเร็จในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะ รมว.กค. คนใหม่เป็นนักวิชาการที่มีความเด็ดขาดสูง และคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจตามความเป็นจริงมากกว่านัยทางการเมือง ประกอบกับจังหวะที่เสนอแก้ไขกฎหมายงบประมาณอาจเป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลง / อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง / ค่าเงินรูเปียห์ผันผวนและอ่อนตัว หากไม่ตัดสินใจเด็ดขาดทำตอนนี้ต่อไปจะไม่สามารถทำได้อีก กอปรกับนักวิชาการ นักธุรกิจ และสื่อมวลชน ใน อซ. ต่างแสดงทัศนะไปในทางเดียวกันว่า การที่รัฐบาลต้องนำ งปม. จำนวนมหาศาลมาชดเชยราคาน้ำมันที่สั่งซื้อจาก ตปท. ได้เป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก จึงทำให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับ รวมถึงประชาชน เพราะแม้มีการประท้วง แต่แค่มีในวงจำกัดและไม่ลุกลามบานปลาย ผลของการขึ้นราคาน้ำมันย่อมจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน แต่น่าจะเป็นระยะสั้น และรัฐบาลน่าจะควบคุมได้

อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุนเพียงเป็นเพียงเพื่อลดภาระทางงบประมาณ แต่ยังไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงทำให้ S & P นอกจากไม่ปรับเพิ่มเครดิตยังปรับลดอีก กรณีนี้ จึงยังท้าทายรัฐบาลต่อไปว่า รัฐบาลจะใช้มาตรการใดในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญลดกำลังลง

3.2 แนวทางที่รัฐบาลสะท้อนให้เห็นในชั้นนี้

คือ การใช้นโยบายการการเงินแบบเข้มงวดเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ และความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งมาตรการที่ทยอยประกาศใช้ อาทิ (1) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินฝากกับธนาคารกลางติดต่อกัน 2 ครั้งใน 1 เดือน (2) ยกเลิกการแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ เพราะยากที่จะสำเร็จและสูญเงินสำรองโดยเปล่าประโยชน์ หากโครงสร้างเศรษฐกิจไม่แข็งแรงพอ เปลี่ยนเป็นปล่อยให้เงินรูเปียห์หาจุดสมดุลย์ใหม่ และจะหันไปใช้นโยบายค่าเงินรูเปียห์อ่อนเพื่อส่งเสริมการส่งออก (3) ระวังภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการเก็งกำไรสูง โดยต่อไปผู้กู้ซื้อบ้านต้องวางเงินดาวน์ร้อยละ 40 สำหรับบ้านหลังที่ 2 และร้อยละ 50 สำหรับบ้านหลังที่ 3 มาตรการเหล่านี้มีนัยในเชิงป้องกันเงินเฟ้อ / ป้องกันภาวะฟองสบู่ และส่งเสริมการส่งออก จึงน่าสนใจว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกหรือไม่อย่างไร เพราะหากประสบผลอาจทำให้ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัว / ส่งออกได้มากขึ้นเพราะเงินรูเปียห์อ่อนค่า และแก้ไขภาวะฟองสบู่ ซึ่งน่าจะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ลดการขาดดุลการค้า / บัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน และทำให้ความน่าเชื่อถือในสกุลเงินกลับมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การใช้นโยบายค่าเงินอ่อนจะไม่ส่งเสริมการส่งออก เพราะปัจจุบันอินโดนีเซียส่งออกได้น้อย แต่นำเข้ามาก ดังนั้น ค่าเงินอ่อนจะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศซึ่งนำเข้าสินค้าประเภททุนได้รับผลกระทบและยิ่งจะกระทบเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และลดกำลังการบริโภคภาคครัวเรือน แต่โดยรวมนักวิเคราะห์เห็นว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องในภาวะการณ์ขณะนี้

3.3 แม้ตัวเลขต่างๆ จะสะท้อนไปในเชิงว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียถูกขับเคลื่อนโดยการบริโภคภาคครัวเรือน

โดยมีการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกเสริม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย คือ เงินทุนต่างประเทศ เห็นได้จากในช่วงไตรมาส 3/2555 และ 4 /2555 แม้อินโดนีเซียจะขาดดุลการค้า / ดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ไม่ขาดดุลการชำระเงิน เพราะเงินทุนไหลเข้าในบัญชีทุนเคลื่อนย้าย (capital account) สูงจนทำให้รักษาสถานะไว้ได้ แต่ในไตรมาส 1/2556 เมื่อเงินทุนไหลเข้าน้อย จึงเกิดภาวะขาดดุลการชำระเงินทันที และเมื่อการลงทุนไม่ขยายตัว การจ้างงานก็ลด กำลังบริโภคภาคครัวเรือนก็ลดลงไปพร้อมๆ กัน ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นตามเป้า ดังนั้น รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการลงทุนอย่างมาก แต่ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการหลายอย่างที่ส่งผลเชิงลบต่อการลงทุน โดยเฉพาะภาคเหมืองแร่ / น้ำมันและก๊าซ เช่น การห้ามส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ได้ถลุง / การบังคับให้บริษัทขุดเจาะน้ำมันต้องนำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาฝากกับธนาคารในประเทศ / การจะขึ้นค่าธรรมเนียมป่าไม้ (forestry fee) สำหรับการทำเหมืองแร่ และการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซอีกร้อยละ 33 จากเดิม 3 ล้านรูเปียห์ต่อเฮกเตอร์ ไปเป็น 4 ล้านรูเปียห์/เฮกเตอร์ รวมทั้งจะขึ้นค่าภาคหลวง (royalty fee) สำหรับใบอนุญาตทำเหมืองไปเป็นร้อยละ 13.5 ของยอดขาย จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 5-7 ของยอดขาย จึงทำให้ภาคเหมืองแร่/น้ำมันและก๊าซลดการดึงดูดนักลงทุนลง เห็นได้จากรายงานของ Price Waterhouse ที่สำรวจผู้ประกอบการเหมืองแร่ในอินโดนีเซียพบว่า กว่าร้อยละ 64 ของผู้ตอบแบบสอบถามลงความเห็นว่าอินโดนีเซียกลายเป็นประเทศไม่ดึงดูด ( less attractive) จากมาตรการที่รัฐบาลออก และนักลงทุนจะเพียงลงทุนเพิ่มในการลงทุนที่มีอยู่แล้วแต่จะไม่ลงทุนใหม่ (greenfields) จึงทำให้ตัวเลข FDI ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลกระทบทั้งระบบทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวตามเป้า ซึ่งหากรัฐบาลรับฟังปัญหาดังกล่าวจากเอกชนและค่อยๆ ปรับแก้ไขในระยะยาวก็น่าจะกลับสู่ภาวะปรกติได้

3.4 รัฐบาลมุ่งปกป้องตลาดภายใน และก้าวก่ายระบบตลาดมากเกินไป

เช่น ออกมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าอาหารหลายรายการ จึงทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า และราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประเด็นดังกล่าวในระยะสั้นและกลางน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงตลาดเสรีได้ยาก เพราะใกล้ช่วงการเลือกตั้ง (การเลือกตั้ง ส.ส. และ ปธน. จะมีในเดือน เม.ย. และ ก.ค. 2557 ตามลำดับ) รัฐบาลย่อมต้องรักษาฐานเสียงผ่านนโยบายประชานิยม จึงต้องติดตามต่อไปว่า เมื่อใดรัฐบาลจะปรับนโยบายไปเน้นกลไกตลาด และส่งเสริม R&D ปรับปรุงคุณภาพการผลิต รวมทั้งสร้างความโปร่งใสในระบบราชการ ซึ่งหากใช้แนวทางดังกล่าวระบบอาหารของอินโดนีเซียก็น่าจะเข้าสู่ภาวะปรกติได้ต่อไป


29 กรกฎาคม 2556
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา