รายงานเศรษฐกิจ ปี 2556

รายงานเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไตรมาส 4/2556

ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2013 และคาดการณ์ปี 2014

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

1.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2556 ขยายตัวลดลงเป็นลำดับตลอดทุกไตรมาส

กล่าวคือ ขยายตัวที่ร้อยละ 6.02 / 5.8 / 5.62 ในไตรมาสที่ 1-3 ตามลำดับ และในไตรมาส 4/2556 ก. คลังคาดว่าจะขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวน้อยที่สุดในรอบ 4 ปี จึงทำให้โดยรวม ปี 2556 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.7 สาเหตุสำคัญมาจาก

  1. การชะลอไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการประกาศใช้มาตรการที่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มองว่าเป็นมาตรการที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การลงทุนของอินโดนีเซียที่เงินทุนต่างชาติขยายตัวน้อยกว่าการลงทุนภายใน
  2. การขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการชำระเงินอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุน
  3. อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากสาเหตุมาจากการลดการอุดหนุนน้ำมันและการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร และ
  4. การอ่อนตัวของค่าเงินรูเปียห์เนื่องจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน และการประกาศยกเลิก Quantitative Easing ของสหรัฐฯ

1.2 การค้าระหว่างประเทศยังไม่สามารถเป็นกลจักรสำคัญช่วยทำรายได้ให้กับรัฐ ในรอบปีที่ผ่านมา (สถิติ ม.ค.-พ.ย. 2556) อินโดนีเซียยังคงขาดดุลการค้าประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้ว่าในไตรมาส 4/2556 การค้าจะปรับตัวดีขึ้น (เดือน ต.ค. และ พ.ย. ได้ดุลการค้า 24.3 และ 776.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ) ซึ่งในช่วงที่ประกาศการได้ดุลการค้าก็จะทำให้สถานะค่าเงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เพราะนักลงทุนคาดหวังว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง 1 ทั้งนี้ ธนาคารกลางคาดการณ์ว่าไตรมาส 4/2556 น่าจะขาดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ของ GDP ซึ่งจะทำให้ตลอดทั้งปีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมอยู่ที่ประมาณ 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่า 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งธนาคารกลางเคยประมาณการณ์ไว้ และน่าจะทำให้สถานะการขาดดุลการชำระเงินดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/2556 ที่ขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจเปลี่ยนการขาดดุลการชำระเงินมาเป็นเกินดุลได้ประมาณ 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 4/2556

1.3 ค่าเงินรูเปียห์ในปี 2556 ถือว่าอ่อนค่าลงอย่างมาก โดยตลอดทั้งปี ปรับลดค่าลงไปถึงประมาณร้อยละ 25

ถือเป็น the worst performing currency ในเอเชีย อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อสิ้นปี 2556 อยู่ที่อยู่ที่ประมาณ 12,250 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี สาเหตุการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินอย่างต่ำเนื่อง ซึ่งในช่วงแรกๆ ธนาคารกลางยังพยายามเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนของรูเปียห์ในอยู่เหนือ 10,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียไม่เข้มแข็งพอ จึงขาดปัจจัยพื้นฐานหนุน ทำให้แม้ว่าธนาคารกลางจะพยายามแทรกแซงแต่ก็ไม่สามารถชะลอการเทขายของนักลงทุนค่าเงินรูเปียห์จึงหลุดแนวต้านเชิงจิตวิทยา (psychological threshold) ที่ 10,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ลงไปเรื่อยๆ และไปหยุดที่ประมาณ 12,100 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 2/2556 ธนาคารกลางจึงประกาศยกเลิกการแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ และปล่อยให้เงินรูเปียห์หาจุดสมดุลใหม่ ซึ่งธนาคารกลางและรัฐบาลกลางคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 11,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งผลจากนโยบายการหยุดแทรกแซงของธนาคารกลางทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งลดลงเป็นลำดับจนหลุดเกณฑ์ปลอดภัยเชิงจิตวิทยาที่ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้โดยสิ้นปี 2556 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ประมาณ 99.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 2 ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดเห็นที่ สอท. เคยตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า การแทรกแซงจะไม่เป็นผลเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียไม่แข็งแกร่งเพียงพอจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งแทน

1.4 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีถือว่า ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการลดการอุดหนุนน้ำมันและราคาอาหารที่แพงขึ้น

แต่รัฐบาลก็สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวโดยในรอบปีที่ผ่านมาธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 5 ครั้ง จากร้อยละ 5.75 มาเป็นร้อยละ 7.5 ในปัจจุบัน รวมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบข้ามคืนกับธนาคารกลาง (FASBI) เป็นระยะๆ จนเป็นร้อยละ 4.75 จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ประมาณ 8.38 ต่ำกว่าที่ธนาคารกลางเคยประมาณการณ์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 9 3 และรัฐบาลคาดการณ์ว่า ในปีนี้น่าจะสามารถกลับสู่ภาวะปรกติได้ที่ประมาณ ร้อยละ 4.5-5

การลงทุนในประเทศในปี 2556 มีมูลค่าทั้งสิ้น 313.2 ล้านล้านรูเปียห์ เกินเป้าที่วางไว้ที่ 283.5 ล้านล้านรูเปียห์ โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ การลงทุนต่างชาติขยายตัวประมาณร้อยละ 22.4 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวลดลงในรอบ 3 ปี เพราะเดิมจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 30 แต่ในทางกลับกันการลงทุนของนักลงทุนในประเทศ กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 33 ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เช่นกัน จึงทำให้ตัวเลขการลงทุนโดยรวมในปี 2556 เกินเป้าที่ BMPM คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ จนสิ้นสุดไตรมาส 3/2556 การลงทุนจากต่างชาติคิดเป็นประมาณ 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ตลอดทั้งปี น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30-32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในปี 2557 BKPM คาดการณ์ว่า เงินลงทุนจากต่างประเทศจะชะลอตัวลง และอาจตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับปี 2556

การท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาเยือนอินโดนีเซียประมาณ 8.6 ล้านคนต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 9 ล้านคน โดยคิดรายได้ประมาณ 9.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.17 จากปีก่อน

2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.1 นโยบายการเงินแบบตึงตัว

ตลอดปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งขยายตัวลดลงและส่งสัญญาณฟองสบู่ในบางสาขา และรับมือกับการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ โดย

  1. ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งจากร้อยละ 5.75 จนมาเป็นร้อยละ 7.5 นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการการเงินและการคลังหลายๆ มาตรการเช่น
  2. การปรับเพิ่มเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์เป็นร้อยละ 8
  3. การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการให้สินเชื่อต่อวงเงินฝาก (loan to deposit) จากเดิมในอัตราส่วนร้อยละ 100 เป็นร้อยละ 92 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง หลังจากมีสัญญาหนี้เสีย (NPL) ในภาคธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น
  4. การควบคุมการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยลดอัตราส่วนวงเงินกู้ต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ (loan to value) เหลือร้อยละ 60 สำหรับอสังหาริมทรัพย์ ขนาด 70 ตร.ม. เป็นต้นไป และร้อยละ 50 หากอสังหาฯ นั้นไม่ใช่บ้านหลังแรก เพื่อป้องกันการเกิดฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ
  5. การออกตราสารเชิญชวนให้ธนาคารพาณิชย์นำฝากดอลลาร์สหรัฐฯ กับธนาคารกลางในระยะที่ยาวขึ้น รวมทั้ง
  6. บังคับให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ นำเงินกลับมาฝากกับธนาคารในประเทศเพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน
  7. ประกาศให้ quote อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ จากสถาบันกลางในประเทศเพียงแห่งเดียว และ
  8. ลงนามใน swap agreement กับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะมีเงินกองทุนช่วยเหลือหากประสบวิกฤต

ซึ่งมาตรการต่างๆ บางมาตรการประสบความสำเร็จ เช่น สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงจนเกิดวิกฤต แต่บางมาตรการก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น การอ่อนค่าของรูเปียห์ ดังนั้น ช่วงปลายปี ธนาคารกลางจึงเปลี่ยนมาใช้นโยบายค่าเงินอ่อนแทน และปล่อยให้เงินรูเปียห์ปรับค่าตามภาวะตลาด และให้อ่อนค่าเพราะน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออก นอกจากนี้ ยังพยายามลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นพื้นฐานหนึ่งที่มีผลเชิงจิตวิทยาให้นักลงทุนทิ้งเงินสกุลรูเปียห์ โดยจำกัดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยผ่านการเพิ่มภาษีหัก ณ ที่จ่ายสินค้านำเข้าจากเดิมร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 7.5 อย่างไรก็ตาม แม้จะลดยอดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้

2.2 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ – หลังจากที่อินโดนีเซียได้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากถึงร้อยละ 44 (2.2 ล้านรูเปียห์)

ในต้นปี 2556 ในปี 2557 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงจาการ์ตาจะปรับเพิ่มประมาณร้อยละ 10 คือ อยู่ที่เดือนละ 2.44 ล้านรูเปียห์สอดคล้องกับประกาศประธานาธิบดีที่กำหนดว่า การขึ้นค่าจ้างจะต้องไม่ให้เกินอัตราเงินเฟ้อ+ร้อยละ 10 สำหรับอุตสาหกรรรมทั่วไป และหากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน (labour-intensive industry) ให้ขึ้นได้ไม่เกินอัตราเงินเฟ้อ+ร้อยละ 5 อย่างไรก็ดี ในหลายพื้นที่มีการประกาศขึ้นค่าจ้างในสัดส่วนที่สูง เช่น Bekasi ปรับขึ้นร้อยละ 40 (จาก 2.1 ล้านรูเปียห์ เป็น 2.9 ล้านรูเปียห์) ซึ่งการปรับเพิ่มในสัดส่วนดังกล่าวในปี 2557 สหภาพแรงงานยังไม่พอใจนัก แม้ปัจจุบันการเรียกร้องจะลดลง แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ การปรับเพิ่มค่าแรงอย่างต่อเนื่องของอินโดนีเซียส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นและทำให้หลายคนมองว่า อินโดนีเซียไม่ใช่แหล่งของแรงงานราคาถูกอีกต่อไป เช่นเดียวกันราคาค่าเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมใน Bekasi หรือ Karawang คิดค่าเช่า 191 ดอลลาร์สหรัฐฯ /ตรม. ในขณะที่ในไทยอยู่ที่ 119 ดอลลาร์สหรัฐฯ /ตรม. และมะนิลาอยู่ที่ประมาณ 52-102 ดอลลาร์สหรัฐฯ / ตรม.

2.3 การปรับขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุนและก๊าซหุงต้ม – เมื่อเดือน มิ.ย. 2556 รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุน ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินหลังจากไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2551

เพื่อลดภาระงบประมาณ และลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ เมื่อสิ้นปี 2556 บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pertamina ได้ประกาศขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) จากเดิมราคา 5,850 รูเปียห์/กก. เป็น 9,350 รูเปียห์/กก. หรือประมาณร้อยละ 60 สำหรับถังก๊าซขนาด 12 กก. ซึ่งไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ก่อนที่จะยอมปรับลดราคาลงเหลือ 6,850 รูเปียห์/กก. หลังจาก ปธน. ขอให้ทบทวนการขึ้นราคาดังกล่าว นอกจากนี้ อัตราค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มจะปรับขึ้น แต่ได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากภาคเอกชน โดยในปีที่ผ่านมาอัตราค่าไฟฟ้าได้ปรับขึ้นไปแล้วถึง 4 ครั้ง

2.4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ – เนื่องจากรัฐบาลโดยเฉพาะ รมว.กค. (นาย Chatib Basri) ตระหนักดีกว่า การลงทุนจากต่างประเทศเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จึงได้พยายามสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุนท่ามกลางกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะในภาคเหมืองแร่ที่ประสบปัญหาการลงทุนชะลอตัว โดยรัฐบาลประกาศจะลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเหมืองแร่ และ oil and gas ลง จากเดิม 49 ขั้นตอนเหลือ 8 กลุ่มขั้นตอน นอกจากนี้ ยังประกาศทบทวนอัตราส่วนการถือครองกิจการของคนต่างชาติ (Negative Investments List) ในสาขาสำคัญ อาทิ โรงไฟฟ้า การบริหารจัดการท่าอากาศยาน ท่าเรือ และลดภาษีให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูง อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวถูกคัดค้านจากกระแสชาตินิยมในประเทศ จึงทำให้บางสาขา เช่น การบริหารจัดการสนามบินและท่าเรือ ถูกปรับลดอัตราส่วนการถือครองกิจการเหลือเพียงร้อยละ 49 จากเดิมที่เสนอไว้ที่ร้อยละ 99 จึงอาจไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากนัก เนื่องจากไม่สามารถเข้ามาบริหารกิจการได้เต็มที่ ทั้งนี้ การพยายามสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะสาขาเหมืองแร่ ยังทำได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะปัญหาค้างคาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายเหมืองแร่ ปี 2009 ที่กำหนดห้ามส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการออกนอกประเทศ ซึ่งกำหนดเส้นตายห้ามส่งออกคือ 12 ม.ค. นี้ หากรัฐบาลยังหาข้อสรุปกับเอกชนไม่ได้ สินแร่ต่างๆ เช่น นิกเกิล บอกไซต์ ทองแดง ทองคำ ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอินโดนีเซียก็จะถูกห้ามส่งออก ซึ่งจะกระทบรายได้ของอินโดนีเซียประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของ GDP

2.5 มาตรจำกัดการนำเข้าพืชสวน – ในช่วงครึ่งปีแรก รัฐบาลห้ามนำเข้าพืชสวนจากต่างประเทศจำนวน 13 รายการ รวมทั้งจำกัดท่าเรือที่สินค้าเข้า

ส่งผลให้พืชสวนสำคัญ โดยเฉพาะกระเทียม หองแดง และพริก ขาดแคลนและราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 5-6 เท่า เป็นเหตุให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ต่อมารัฐบาลจึงผ่อนคลายโดยเปลี่ยนมาจากการใช้โควต้าควบคุมเป็นใช้กลไกราคา แต่ยังมีนัยการใช้โควต้าอยู่ คือ ควบคุมผ่านการออกใบอนุญาตนำเข้าแก่เอกชนโดยให้นำเข้าได้ตามที่รัฐบาลสั่งการจนกระทั่งราคาสินค้าอยู่ในระดับที่รัฐบาลเห็นเหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการค้าและ ก. เกษตรว่าด้วยการอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์พืชสวนจาก ตปท. ฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องยื่นคำร้องขอนำเข้าสินค้าพืชสวนล่วงหน้า 1 เดือน สำหรับโควตาการนำเข้ารอบครึ่งปีนั้นๆ ในขณะที่พริกและหอมแดงไม่มีการกำหนดโควตา สามารถยื่นขออนุญาตได้ตลอดเวลา หาก คกก. ตรวจสอบราคาผลิตภัณฑ์พืชสวนแจ้งว่าราคาในท้องตลาดสูงกว่าราคาอ้างอิง และอนุญาตให้นำเข้า

3. คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ปี 2557

ธนาคารกลางประเมินว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ปี 2557 น่าจะเติบโตประมาณ ร้อยละ 6 และการใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของ GDP ประมาณร้อยละ 0.1-0.2 สำหรับการส่งออก ก. การค้าคาดว่าน่าจะขยายตัวได้เล็กน้อยจากการฟื้นตัวของตลาดโลก โดยมีมูลค่าประมาณ 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 2556 แต่การนำเข้าน้ำมันดิบน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ค่าเงินรูเปียห์น่าจะยังคงปรับตัวอยู่ในระดับ 11,000 - 12,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เอกชนมองว่าเงินรูเปียห์อาจแข็งค่ากลับมาที่ระดับ 11,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะลดลงเหลือร้อยละ 5 ในช่วงปลายปี 2557 แต่จะยังคงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องในปี 2557 ด้านการลงทุน BKPM คาดการณ์ว่า ในปี 2557 การลงทุนทั่วไปในอินโดนีเซีย (รวมการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศ) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 390 ล้านล้านรูเปียห์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 ในขณะที่การท่องเที่ยว ก. ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ปรับลดเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวลงเหลือ 9.2 ล้านคน จากเดิม 10 ล้านคน เพราะปี 2556มีนักท่องเที่ยวเยือนอินโดนีเซียต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ อย่างไรก็ดี ก. ท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนมากขึ้นเป็น 1 ล้านคน จากการประกาศ Indonesia-China Tourism Years เมื่อเดือน พ.ย. 2556

4. ข้อคิดเห็น

4.1 เศรษฐกิจปี 2557 น่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.4-5.6

สาเหตุมาจากในปีนี้ หลายฝ่าย รวมทั้ง BKPM เห็นว่า จะเป็นปีที่การลงทุนจากต่างชาติอาจชะลอลง นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังต้องการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อให้ไม่เกินร้อยละ 14-15 จากเดิมที่เคยขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน สำหรับอัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์สูง สาเหตุเพราะกลไกควบคุมและส่งเสริมการผลิตอาหารของอินโดนีเซียยังไม่ดีนัก และกระแสชาตินิยมมักทำให้นโยบายเศรษฐกิจถูกบิดเบือนจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความอ่อนแอของรากฐานเศรษฐกิจได้ เช่น การห้ามนำเข้าพืชเกษตรเมืองร้อนจากต่างประเทศทั้งๆ ที่ภายในผลิตได้ไม่เพียงพอ เป็นต้น

4.2 ปี 2557 จะเป็นปีซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไป และเลือกตั้งประธานาธิบดี

ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดตัวผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ได้เป็นอย่างดี เพราะหากประธานาธิบดีคนใหม่ ไม่ใช่นักปฏิรูปเศรษฐกิจ อาจทำให้สังคมอินโดนีเซียเกิดความปั่นป่วนเพราะปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความอ่อนแอของโครงสร้างอาจปะทุขึ้นได้ในช่วงการดำรงตำแหน่ง (5 ปี) และอาจสั่นคลอนความมั่นคงทางการเมือง ทั้งนี้ รายงานทางวิชาการระบุว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนของอินโดนีเซียขยายตัวอย่างมาก โดยหากคิดจาก GDP ของอินโดนีเซียในปี 2556 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 930 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คนร่ำรวยที่สุดในอินโดนีเซียร้อยละ 10 จะมีสัดส่วนใน GDP ดังกล่าวร้อยละ 25 ในขณะที่คนยากจนที่สุดร้อยละ 10 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.3 ในขณะที่ในอนาคตอันใกล้ คนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 จะมีสัดส่วนใน GDP เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในขณะที่คนยากจนที่สุดร้อยละ 10 จะมีสัดส่วนใน GDP ลดลงเหลือร้อยละ 3 ซึ่งการเพิ่มในสัดส่วนของ GDP ร้อยละ 5 ของกลุ่มคนร่ำรวย ให้ค่าความแตกต่างทางสังคมน้อยมาก ในขณะที่การลดส่วนของคนยากจนลงร้อยละ 1 กลับส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ดังนั้น ในอนาคตกระบวนการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม (social cohesion) จึงมีความสำคัญมาก และนโยบายเศรษฐกิจจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของกระบวนการดังกล่าว

4.3 รัฐบาลโดยเฉพาะ ก. คลังภายใต้การนำของนาย Chatib Basri ซึ่งมีพื้นฐานเป็นนักวิชาการและเคยเป็นประธาน BKPM มาก่อนเริ่มแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

เช่น พยายามแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า โดยเน้นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน เช่น การให้ incentive กับธุรกิจที่ลงทุนในด้านนวัตกรรมและการค้นคว้าวิจัย เพื่อให้สามารถผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าแทนการห้ามประชาชนกินใช้ (เช่น ลดการบริโภคข้าวเช่นในอดีต) รวมทั้ง หันมาพยายามปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาที่รากเหง้ามากกว่าจากอาการ เช่น การลดการแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีความสลับซับซ้อน และกฎระเบียบต่างๆ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายที่อาจมีนัยเกี่ยวโยงกับการคอรัปชั่นมาเป็นเวลานาน การปรับปรุงแก้ไขจะต้องใช้เวลายาวนาน และต้องมีความมุ่งมั่นมาก ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่รอการแก้ไขทั้งจากรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งยังเหลือเวลาอีกระยะหนึ่งและรัฐบาลใหม่ ซึ่งรวมถึงทำอย่างไรให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มรู้สึกถึงบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยและหันกลับมาลงทุนเพิ่มอย่างในอดีต


16 มกราคม 2557
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา