กฎระเบียบสำคัญ
กฎหมายการลงทุน
อินโดนีเซียทบทวนสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติใหม่ ประจำปี 2559
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 นาย Pramono Anung เลขา ครม. อินโดนีเซีย ได้แถลงข่าวการทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติในอินโดนีเซีย หรือ Negative Investments List (DNI) ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ของรัฐบาล โดยมีการเปิด/ขยายสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในสาขาสำคัญ อาทิ ห้องเย็น ยาง ทางด่วน ภาพยนตร์ e-commerce ร้านอาหาร ในขณะที่จำกัดการลงทุนของต่างชาติใน 20 สาขา และปกป้องธุรกิจขนาดเล็กและ SMEs ท้องถิ่น
1. สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
สาขา | อัตราเดิม (%) | อัตราใหม่ (%) |
สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติร้อยละ 100 | ||
1. ห้องเย็น [1] | 33 | 100 |
2. ศูนย์กีฬา | 49 | 100 |
3. การผลิตภาพยนตร์ (film production houses) | 49 | 100 |
4. ยางผง (crumb rubber) | 49 | 100 |
5. ร้านอาหาร / บาร์ / ร้านกาแฟ | 51 | 100 |
6. วัตถุดิบการผลิตยา | 85 | 100 |
7. ทางด่วน | 95 | 100 |
8. Telecommunication Testing and Labs | 95 | 100 |
9. การบริหารจัดการขยะที่ไม่เป็นพิษ | 95 | 100 |
สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น | ||
10. การกระจายสินค้า [2] | 33 | 67 |
11. การจัดการอบรมทางธุรกิจ | 49 | 67 |
12. ตัวแทนท่องเที่ยว | 49 | 67 |
13. สนามกอล์ฟ | 49 | 67 |
14. Transport Supporting Services | 49 | 67 |
15. พิพิธภัณฑ์ | 51 | 67 |
16. catering | 51 | 67 |
17. ธุรกิจการจัดประชุมงานแสดงสินค้า และ Travel Incentives | 51 | 67 |
18. การให้คำปรึกษาการก่อสร้างในโครงการมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านรูเปียห์ | 55 | 67 |
19. Telecommunication Services | 65 | 67 |
สาขาใหม่ที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติจากเดิมไม่อนุญาต | ||
20. การติดตั้งไฟฟ้าความแรงสูง | 0 | 49 |
21. การขนส่งทางบก | 0 | 49 |
22. Healthcare support services | 0 | 67 |
23. ภาพยนตร์ และการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ | 0 | 100 |
24. E-commerce ที่มีขนาดตลาดมากกว่า 1 แสนล้าน รูเปียห์ | 0 | 100 |
จากเดิมร้อยละ 100 ปรับลดเหลือร้อยละ 33 ในเกาะสุมาตรา ชวา บาหลี และร้อยละ 77 ในเกาะกาลิมันตัน สุลาเวสี นูซาเตงการาตะวันออก มาลุกุ และปาปัว
[2] ในการทบทวน DNI เมื่อปี 2557 ได้ปรับจากอัตราร้อยละ 100 เหลือร้อยละ 33
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ทบทวน DNI ประมาณทุก 2 ปี การทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติครั้งนี้ มีการเพิ่มสาขาและขยายสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติมากกว่าการทบทวนเมื่อปี 2557 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคบริการ
ซึ่งประธานาธิบดี Jokowi ได้เรียกการทบทวน DNI ครั้งนี้ว่าเป็นมาตรการ “Big Bang” เนื่องจากมุ่งหวังให้มาตรการดังกล่าวช่วยกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของ อซ. นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ประกาศมาตรการดังกล่าวเป็นช่วงก่อนการเยือนสหรัฐฯ ของ ปธน. อซ. เพื่อร่วม กปช. ASEAN-US Summit จึงเป็นการส่งสัญญาณที่ดีไปยังนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร E-commerce และภาพยนตร์ สำหรับเอกชนไทย สาขาร้านอาหารน่าจะเป็นอีกสาขาที่เอกชนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ขยายการลงทุนได้ดี เนื่องจากอาหารไทยได้รับความนิยมอยู่แล้ว โดยร้านอาหารไทยในอินโดนีเซียส่วนมากเป็นของนักธุรกิจท้องถิ่น โดยจ้างพ่อครัว/แม่ครัวชาวไทยมาควบคุมคุณภาพ
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง: Presidential Regulation No. 44/2016 (ต้นฉบับ)
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง: Presidential Regulation No. 44/2016 (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
แหล่งข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
อินโดนีเซียทบทวนสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติใหม่ ประจำปี 2557
เมื่อปลายปี 2556 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทบทวนสัดส่วนการลงทุน และการถือกิจการของต่างชาติในอินโดนีเซีย (Negative Investments List – DNI) ในสาขาสำคัญต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการท่าอากาศยาน ท่าเรือ โทรคมนาคม โรงไฟฟ้า รวมถึงอัตราส่วนการลงทุนของต่างชาติในลักษณะ PPP ในสาขาต่างๆ ซึ่งรัฐบาล ได้เริ่มทบทวนมาตั้งแต่ปี 2553 รายละเอียดสำคัญ ดังนี้
1. สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
สาขา | อัตราเดิม (%) | อัตราใหม่ (%) |
สิ่งอำนวยความสะดวกในการคมนาคมทางบก เช่น สถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟ | 0 | 49 |
การตรวจเช็คยานพาหนะ | 0 | 49 |
เภสัชภัณฑ์ | 75 | 85 |
ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture capital Financing) |
80 | 85 |
ธุรกิจโฆษณา (สำหรับเฉพาะนักลงทุนจากอาเซียน) |
0 | 49 |
2. สาขาที่จำกัดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
สาขา | อัตราเดิม (%) | อัตราใหม่ (%) |
การกระจายสินค้า | 100 | 33 |
การจัดเก็บสินค้า | 100 | 33 |
ห้องเย็น | 100 | 33*/77** |
ฟาร์มเกษตรกรรม | 95 | 30 |
3. สัดส่วนการลงทุนในสาขาโทรคมนาคม
ได้แก่ Fixed telecommunications และโครงข่ายโทรคมนาคมมัลติมีเดีย ถูกกำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 65 และที่อัตราร้อยละ 49 สำหรับผู้ให้บริการมัลติมีเดีย ทั้งนี้ จากเดิมที่ไม่มีการควบคุมอัตราส่วนในการลงทุนมาก่อน
4. อัตราส่วนการลงทุนของต่างชาติในลักษณะ PPP
- 4.1 ท่าอากาศยาน และสถานีขนส่งทางบก – ร้อยละ 49
- 4.2 ท่าเรือ ประปา ทางด่วน – ร้อยละ 95
- 4.3 โรงไฟฟ้า – ร้อยละ 49 สำหรับโรงไฟฟ้ากำลังผลิต 1-10 เมกะวัตต์ และร้อยละ 100 สำหรับโรงไฟฟ้ากำลังผลิตมากกว่า 10 เมกะวัตต์
- 4.4 การส่งและการกระจายไฟฟ้า (transmission and distribution) – ร้อยละ 100
5. ข้อสังเกต
การทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติเป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลผลักดัน โดยเฉพาะนาย Chartib Basri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ที่ต้องการออกมาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในอินโดนีเซียมีการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ การเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในสาขาสำคัญ โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง น่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอินโดนีเซียยังไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ได้อย่างเพียงพอหรือมีคุณภาพดีพอ เพื่อรองรับความต้องการของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับได้
อย่างไรก็ตาม การทบทวน DNI ได้รับการคัดค้านจากกระแสชาตินิยมในประเทศอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประธานาธิบดี Yudhoyono ต้องออกมาประกาศชะลอการทบทวนตามข้อเสนอโดยรัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจ (นาย Hatta Radjasa) และประกาศว่า จะเข้ามาดูแลในรายละเอียดด้วยตนเองโดยจะคำนึงถึง “ผลประโยชน์แห่งชาติ” เป็นหลัก และในที่สุด รัฐบาลก็ต้องปรับลดสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในบางสาขา อาทิ การบริหารจัดการสนามบินและท่าเรือจากเดิมเสนอไว้ที่อัตราร้อยละ 99 เหลือเพียงร้อยละ 49 ลงเป็นต้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการแก้ไขจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ การผ่อนปรน หรือปรับปรุงมาตรการและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนในสาขาเหมืองแร่ ซึ่งเดิมเป็นสาขาที่ FDI ไหลเข้าเป็นลำดับต้นๆ แต่เนื่องจากรัฐบาลออกมาตรการหลายประการที่บั่นทอนความเชื่อมั่นจึงทำให้เงินลงทุนในสาขาดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
แหล่งข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา