กฎระเบียบสำคัญ
กฎหมายภาษี
อินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค
ตามที่กระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ได้ประกาศกฎกระทรวงฯ ที่ 132/2015 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2558 กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้ามากกว่า 100 รายการ ภายใต้กรอบ WTO เพื่อให้สินค้าและผู้ผลิตท้องถิ่นสามารถแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้ นั้น
1. รายการสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญที่มีการปรับอัตราภาษีนำเข้า อาทิ
สินค้า |
อัตราเดิม (%) |
อัตราใหม่ (%) |
เนื้อสัตว์ | 5 | 30 |
กาแฟและชา | 5 | 20 |
รถยนต์ | 10-40 | 50 |
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ | 125,000 รูเปียห์/ลิตร | 150 |
ขนมหวาน (เช่น ช็อกโกแลต) | 10 | 30 |
เสื้อผ้า | 15 | 22.5-35 |
2. นาย Gusmardi Bustami ที่ปรึกษารัฐมนตรีการค้า
ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าดังกล่าวเป็นเพียงการใช้พื้นที่นโยบาย (policy space) ของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่มาตรการปกป้องตลาด และที่ผ่านมา อินโดนีเซียกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.8 ต่ำกว่าประเทศ เศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ อาทิ จีน (ร้อยละ 9.6) บราซิล (ร้อยละ13.7) และอินเดีย (ร้อยละ 13) อีกทั้งอัตราภาษีใหม่ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้ WTO และไม่ส่งผลกระทบต่อความตกลง FTA ระหว่างอินโดนีเซียกับประเทศคู่ค้าต่างๆ
3. แม้ว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นออกมาชื่นชมมาตรการดังกล่าวอย่างมาก
แต่นักวิเคราะห์เอกชนและสื่อมวลชนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการนี้อย่างกว้างขวางว่า เป็นมาตรการปกป้องการค้าอย่างชัดแจ้ง และไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลตั้งใจ แต่จะเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ ซึ่งทำให้สินค้านำเข้าราคาเพิ่มสูงขึ้นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะยิ่งทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นตาม (อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2/2558 อยู่ที่ร้อยละ 7.26 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.38) และจะยิ่งทำให้การบริโภคในประเทศลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนั้น การเพิ่มภาษีนำเข้าอาจส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย
4. ข้อคิดเห็น
ผลกระทบต่อไทย – การเพิ่มอัตราภาษีดังกล่าวเป็นการเพิ่มในกรอบ WTO ซึ่งหลายรายการมีการตั้งกำแพงภาษีสูงอยู่แล้ว เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ และแม้กระทั่งภายใต้กรอบ AFTA ก็ยังอยู่ในอัตราเดียวกับ WTO และถือเป็นสินค้าอ่อนไหวลำดับต้นๆ สินค้าที่อาจกระทบไทย คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งแม้ว่าภายใต้ WTO จะเพิ่มถึงร้อยละ 50 ผู้ส่งออกจากไทยก็มีสิทธิเลือกส่งออกภายใต้กรอบ AFTA ซึ่งจะเหลือร้อยละ 0 ในปีนี้ นอกจากนี้ รายการตัวสำคัญๆ ที่ไทยส่งออก ภาษีภายใน AFTA ลดลงร้อยละ 0-5 และเป็นที่น่าสังเกตว่า รายการสินค้าที่ขึ้นภาษีจัดอยู่ในประเภทสินค้าผ่านกระบวนการผลิต เช่น สินค้าในรายการ HS17 (น้ำตาล) รายการที่ปรับขึ้น คือ หมากฝรั่ง ช็อกโกแลตขาว มิใช่น้ำตาลทรายโดยตรง ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศสามารถแข่งขันได้
5. มาตรการดังกล่าวเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่า
รัฐบาลอินโดนีเซียปัจจุบันดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแนวทางชาตินิยมเป็นสำคัญ และอาจมุ่งหวังผลทางการเมืองเนื่องจากประชาชนมองว่า ประธานาธิบดี Jokowi ไม่มีผลงานที่โดดเด่นด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (ไตรมาส 1/2558 เติบโตในอัตราร้อยละ 4.7 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี) ในแง่ผลทางเศรษฐกิจ มาตรการนี้อาจเพียงช่วยในทางจิตวิทยา อย่างไรก็ตาม จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคซึ่งจะมีทางเลือกในการบริโภคน้อยลง
แหล่งข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา