รายงานเศรษฐกิจ ปี 2558

ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 1/2558

1. ภาพรวมเศรษฐกิจ

1.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 1/2558 ยังคงขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

เหลือเพียงขยายตัวร้อยละ 4.71 จากเดิมขยายตัวร้อยละ 5.01 เมื่อปลายปี 2557 ถือเป็นอัตราการขยายตัวรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 และขยายตัวลดลงเกินความคาดหมายของภาครัฐและนักวิเคราะห์เอกชน เนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลง เห็นได้ชัดจากยอดขายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการจับจ่ายใช้สอยสำคัญของประเทศ ขยายตัวลดลงร้อยละ 14 และร้อยละ 19 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกยังคงลดลง ตลอดจนราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง ทำให้อินโดนีเซียมีรายได้จากการขายน้ำมันลดลง และการใช้จ่ายภาครัฐยังคงไม่เป็นไปตามเป้า

1.2 การค้า – ในช่วงไตรมาสนี้อินโดนีเซียได้ดุลการค้า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการได้ดุลการค้ารายไตรมาสที่มากที่สุดในรอบ 3 ปี

อย่างไรก็ดี การได้ดุลดังกล่าวไม่ได้มาจากการส่งออกที่มากขึ้น แต่มีสาเหตุหลักมาจากการนำเข้าที่ลดลง โดยในไตรมาสนี้มูลค่าการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 11.07 (YoY) อยู่ที่ประมาณ 39.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกสำคัญในตลาดโลกยังคงตกต่ำ บวกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของอินโดนีเซียในขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 36.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงประมาณร้อยละ 17.4 (YoY) ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้าที่ลดลงสะท้อนถึงการชะลอตัวของกิจกรรมทางธุรกิจและภาคการผลิตอย่างชัดเจน โดยดัชนีภาคการผลิต (Purchasing Manager Index – PMI) ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 46.4 ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 4 ปี

1.3 การเงินและการคลัง – ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 7.75 เป็นร้อยละ 7.5

เมื่อเดือน ก.พ. 2558 ในไตรมาสนี้อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงอยู่ที่ 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP แม้ว่าการขาดดุลดังกล่าวยังคงสูงกว่าที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้เล็กน้อย แต่ถือว่าขาดดุลลดลงจากปลายปี 2557 ค่อนข้างมาก (จากเดิมร้อยละ 2.6) และการนำเข้าที่ลดลงอย่างมากได้ช่วยให้สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น ปริมาณเงินสำรอง รวปท. ค่อนข้างคงตัวอยู่ที่ 111.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสนี้ปรับลดลงมาอยู่ในที่ร้อยละ 6.38 จากร้อยละ 8.36 เมื่อสิ้นปี 2557 จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อเดือน พ.ค. 2558 ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.15 เป็นอัตราเงินเฟ้อประจำเดือน พ.ค. ที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี

1.4 เงินสกุลรูเปียห์ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยในช่วงสิ้นสุดไตรมาสนี้ อยู่ที่ 13,084 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ

(และยังคงอ่อนค่าลงเรื่อยๆ มาอยู่ที่ระดับ 13,200 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน) ซึ่งการอ่อนค่าดังกล่าวมีผลทั้งจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่ยังคงอ่อนแอ บวกกับปัจจัยภายนอก คือ ความไม่แน่นอนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่

1.5 การลงทุน – แม้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ จะมีแนวโน้มถดถอยลง แต่การลงทุนยังคงขยายตัวได้ดี

มีมูลค่าการลงทุนในไตรมาสนี้ประมาณ 125 ล้านล้านรูเปียห์ หรือขยายตัวร้อยละ 16.09 (yoy) โดยแบ่งเป็นการลงทุนโดยตรงภายในประเทศ 42.5 ล้านล้านรูเปียห์ ขยายตัวร้อยละ 22.8 และ FDI 82.1 ล้านล้านรูเปียห์ ขยายตัวร้อยละ 14 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนที่รัฐบาลวางไว้

2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.1 ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาหนึ่งครั้ง มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5

เนื่องจากเห็นว่าสภาวะเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ควบคุมได้และมีแนวโน้มลดลงจากปลายปี 2557 และยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ธนาคารอินโดนีเซียยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

2.2 ศูนย์ One stop service ด้านการลงทุน

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2558 ปธน. Jokowi ได้เปิดศูนย์ One stop service ที่ BKPM (Indonesia’s Investment Coordinating Board) ตามนโยบายที่ประกาศไว้ว่าจะอำนวยความสะดวกนักลงทุน ลดความซับซ้อนและระยะเวลาในการขอใบอนุญาตต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ โดยให้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 22 แห่ง มาประจำที่ BKPM ทั้งนี้ ไม่รวมการขอใบอนุญาตที่ออกโดยหน่วยงานท้องถิ่น และไม่รวมถึงสาขาการธนาคาร

2.3 มาตรการลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศมาตรการทางเศรษฐกิจ 4 ประการเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ได้แก่

  1. มาตรการแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่นำรายได้มาลงทุนเพิ่มใน อซ./สร้างงาน/ลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา/ส่งออกสินค้าที่ผลิตในอินโดนีเซียบางประเภท
  2. เพิ่มมาตรการทางภาษีเพื่อต่อต้านการทุ่มตลาดสินค้าประเภทเหล็กและสิ่งทอจาก ต่างประเทศโดยจะใช้มาตรการภาษีทันทีเมื่อมีการร้องเรียน และหากการสอบสวนพบว่าไม่มีการทุ่มตลาดจึงจะยกเลิกมาตรการภาษีดังกล่าว
  3. การเพิ่มสัดส่วนการผสม biofuel ในน้ำมันดีเซลจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15
  4. การยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือ นสดท. ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และจีนเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว (ในชั้นนี้ยังคงไม่มีผลบังคับใช้)

3. ข้อคิดเห็น

3.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดจากตัวชี้วัดที่สำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ ในไตรมาส 1/2558

โดยเฉพาะ GDP ที่เติบโตเพียงร้อยละ 4.7 และการส่งออก/นำเข้า ที่ปรับตัวลงอย่างมาก และคาดว่าภาวะเศรษฐกิจทั้งปีของอินโดนีเซียน่าจะขยายตัวได้มากสุดเท่ากับปีที่แล้ว คือ ที่ประมาณร้อยละ 5.1 ตรงกับธนาคารโลกที่ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีนี้ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5.6 (รัฐบาลตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 5.7) นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซา ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีค่ามากยิ่งขึ้น และเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่กลับไปยังสหรัฐฯ นั้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะความผันผวนของค่าเงินสกุลรูเปียห์

3.2 ขณะนี้ ประชาชนอินโดนีเซียประสบกับภาวะค่าครองชีพสูง อัตราเงินเฟ้อสูง

โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ซึ่งเป็นรายจ่ายหลักของครัวเรือนอินโดนีเซียและราคาน้ำมันที่ผันผวนและมีแนวโน้มจะสูงขึ้น กอปรกับอัตราดอกเบี้ยที่สูง ทำให้มีกำลังในการจับจ่ายและลงทุนลดลง นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้ออินโดนีเซียยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 6 แต่ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ในระดับร้อยละ 3-5 ได้ (กระทรวงการคลังอินโดนีเซียประมาณการภาวะเงินเฟ้อทั้งปีที่ร้อยละ 5) จึงคาดการณ์ได้ว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะยังคงนโยบายการเงินแบบตึงตัว และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อจะยิ่งปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 2-3 เนื่องจากเข้าสู่เทศกาลถือศีลอด ซึ่งเป็น seasonal factor ที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าปกติอยู่แล้ว หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการอุปทานด้านอาหารในประเทศได้พอเพียงกับความต้องการ จะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นไปอีกเช่นในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด ปธน. อินโดนีเซียได้แสดงความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และให้ควบคุมราคา และ รมต. ที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นในช่วงถือศีลอด

3.3 กค.อินโดนีเซียได้ประมาณการเศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2559 ว่า จะเติบโตที่ร้อยละ 5.8-6.2 โดยคาดว่าเป้าหมายดังกล่าวมาจากแรงผลักดันในประเทศ

โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะเริ่มมีผลในปีหน้า ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก เช่น ธนาคาร DBS / BCA เห็นว่าเป็นการคาดการณ์ไกลความจริง

3.4 รัฐบาล Jokowi ได้เริ่มผลักดันการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคตามที่ได้ประกาศนโยบายไว้ และได้จัดสรร งปม. จำนวนมากถึง 276 ล้านล้านรูเปียห์ เพิ่มมากขึ้นจากปีงบประมาณ 2557 ถึงร้อยละ 45 เพื่อโครงการต่างๆ ดังกล่าว

แต่ปัญหาสำคัญคือการเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้การเบิกจ่ายภาครัฐไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซียได้เท่าที่ควรจะเป็น (อย่างไรก็ดี ความล่าช้าดังกล่าวทำให้เกิดการชะลอการนำเข้า และเป็นผลดีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ) จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ครม. Jokowi และมีการเรียกร้องให้มีการปรับ ครม. โดยเฉพาะ รมต. บางรายที่มีผลงานไม่โดดเด่น หรือมีการประกาศนโยบายที่ไม่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ยังไม่มีการปรับ ครม. แต่อย่างใด


4 มิถุนายน 2558
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา