รายงานเศรษฐกิจ ปี 2558

ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 4/2558
และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

1.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2558

ยังคงขยายตัวลดลงต่อเนื่อง โดยขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5 ตลอดทุกไตรมาส โดย รบ.อินโดนีเซียคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปี 2558 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 เท่านั้น ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากหลายปัจจัย ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าส่งออกสำคัญของอินโดนีเซียในตลาดโลกตกต่ำ การอ่อนค่าของเงินสกุลรูเปียห์ และการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว และไม่สามารถทำหน้าที่เป็น engine of growth ได้ดีเท่าในอดีต

1.2 การค้าและการลงทุน

ตลอดปี 2558 อินโดนีเซียกลับมาได้ดุลการค้าอีกครั้ง แม้ว่าจะส่งออกสินค้าได้น้อยลง แต่การนำเข้าก็ลดลงมากกว่าการลดลงของการส่งออก โดยปี 2558 มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซียอยู่ที่ 150,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 14.6 (YoY) โดยการส่งออกสินค้าทั้งประเภท oil and gas และ non-oil and gas ลดลงทั้งสองประเภท ในขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 142,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 19.9 (YoY) ซึ่งสะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซียเนื่องจากมีความต้องการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบในการผลิตลดลง อย่างไรก็ดีอินโดนีเซียสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มการลงทุนตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ โดยคาดว่าปี 2558 มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 535 ล้านล้านรูเปียห์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 (รวมการลงทุนทั้ง FDI และ DDI)

1.3 การเงินและการคลัง

อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่ำกว่าร้อยละ 2 ของ GDP มาตลอดในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี เนื่องจากการนำเข้าลดลงและการได้ดุลการค้า แต่คาดว่าสิ้นปี 2558 อัตราขาดดุลจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าปี 2557 ซึ่งอยู่ร้อยละ 2.95 และต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินสำรอง รวปท. ลดลงมาอยู่ที่ 105.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2557 ที่ 111.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางอินโดนีเซียได้เข้าแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินสกุลรูเปียห์มาโดยตลอด

1.4 อัตราเงินเฟ้อ

รบ.อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2558 ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.35 (YoY) เท่านั้น (ในช่วง 3 ไตรมาสแรก อยู่ที่ระดับร้อยละ 6-7) จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และความพยายามควบคุมราคาอาหารของรัฐบาลไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 6.4

1.5 เงินสกุลรูเปียห์ยังคงอ่อนค่าลง

เมื่อสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 13,795 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ากว่าอัตราเป้าหมายที่ รบ.อินโดนีเซียกำหนดไว้ที่ 12,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยได้อ่อนตัวต่ำสุดเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2558 ที่อัตรา 14,728 รูเปียหต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1998 ในปีนี้เงินสกุลรูเปียห์ได้รับการจัดลำดับให้เป็น second worst performing currency ในเอเชีย รองจากเงินสกุลริงกิตมาเลเซีย ซึ่งการอ่อนค่าดังกล่าวมีผลทั้งจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจอินโดนีเซียซึ่งอ่อนไหวต่อเงินทุน ตปท. บวกกับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐซึ่งแข็งค่าขึ้น

1.6 นักท่องเที่ยว

ระหว่างเดือน ม.ค. – พ.ย. 2558 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนอินโดนีเซียทั้งหมดประมาณ 8.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 ซึ่งคาดว่าตลอดปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวเยือนอินโดนีเซียต่ำกว่าเป้าที่ รบ. วางไว้ที่ 10 ล้านคน แม้ว่าจะได้เริ่มใช้มาตรการการยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางจาก 75 ประเทศก็ตาม

2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.1 ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว

โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาหนึ่งครั้ง มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 และคงอัตราดังกล่าวไว้ตลอดจนสิ้นปี 2558 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของเงินรูเปียห์ แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม

2.2 การส่งเสริมการลงทุน

เป็นมาตรการที่ ปธน. Jokowi ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยได้เปิดศูนย์ One stop service ที่ BKPM (Indonesia’s Investment Coordinating Board) เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน ลดความซับซ้อนและระยะเวลาในการขอใบอนุญาตต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนได้ประกาศมาตรการจูงใจทางภาษีและไม่ใช่ภาษีในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสาขาต่างๆ

2.3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อินโดนีเซียได้ออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายของ ปชช. อาทิ การประกาศยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยในสินค้าอุปโภคบริโภค การเพิ่มอัตรารายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษี (taxable income) การลดสัดส่วนเงินดาวน์ต่อสินเชื่ออหังสาริมทรัพย์ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ การส่งเสริม การก่อตั้งธุรกิจ และ SMEs นอกจากนี้ นับแต่เดือน ก.ย. 2558 รบ.อินโดนีเซียได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาทั้งสิ้น 8 ชุด

2.4 การส่งเสริมการท่องเที่ยว

อินโดนีเซียได้ประกาศยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง 75 ประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์การเดินทางเพื่อท่องเที่ยว โดยสามารถพำนักในอินโดนีเซียได้ไม่เกิน 30 วัน และมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนประเทศที่จะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราอีก 84 ปท. ในปี 2559 นี้ ทั้งนี้ เป็นการประกาศใช้มาตรการฝ่ายเดียวของอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนท่าทีของอินโดนีเซียจากเดิมที่ยึดหลักประติบัติต่างตอบแทนเท่านั้น (เดิมมีเพียง 13 ประเทศและ 2 เขตเศรษฐกิจเท่านั้นที่สามารถเดินทางเข้าอินโดนีเซียได้โดยไม่ต้องได้รับการตรวจลงตรา รวมประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ)

2.5 ปธน. Jokowi ได้ประกาศปรับ ครม. ในตำแหน่ง รมต. เศรษฐกิจ 3 ตำแหน่ง

ได้แก่ รมต. ประสานกิจการเศรษฐกิจ รมว. ประสานกิจการทางทะเล และ รมว. การค้า เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2558 เพื่อลดเสียงวิจารณ์สถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย และต่อมาในเดือน พ.ย. 2558 ได้แต่งตั้ง รมต./จนท. ระดับสูงจำนวน 12 คน เพื่อดูแล คสพ. ด้านการค้าและการลงทุนกับ ปท./ภูมิภาค ต่างๆ เป็นการเฉพาะ

3. คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ปี 2559

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 5.3 (แม้ว่าในแผนพัฒนา ศก. ระยะกลางของ ปท. ที่ประกาศไว้เดิมจะกำหนดเป้าปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 6.6 และในปี 2562 เติบโตถึงร้อยละ 8 ก็ตาม) โดยหวังว่าการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าราคาสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ปาล์มน้ำมัน จะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2559 ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ สอดคล้องกับสถาบันต่างๆ ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2559 จะเติบโตในอัตราร้อยละ 5-5.4 อย่างไรก็ดี โดยที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกสูง กอปรกับปัจจัยเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและการลดค่าเงินสกุลหยวน จะสร้างแรงกดดันต่อเงินสกุลรูเปียห์ต่อไป ในด้านอื่นๆ นั้น อัตราเงินเฟ้อในปี 2559 น่าจะไม่ต่ำลงไปกว่าปัจจุบัน (รบ.อินโดนีเซียธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-5) และตั้งเป้าว่าการลงทุนต่างชาติจะเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับปี 2558 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 41.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปีก่อน

4. ข้อคิดเห็น

4.1 เศรษฐกิจปี 2558 ของอินโดนีเซียขยายตัวต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลวางไว้มาก

เนื่องจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน กล่าวคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ รวมทั้งราคาสินค้าประเภท commodities ในตลาดโลกตกต่ำอย่างเป็น เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าที่อินโดนีเซียพึ่งพิงในการส่งออก กอปรกับการขับเคลื่อนการกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศยังไม่คืบหน้ามากเท่าที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 รัฐบาลอินโดนีเซียเน้นการกระตุ้นการกระตุ้น ศก. โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ จึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดคือการเปิดตัวโครงการออกใบอนุญาตลงทุนภายใน 3 ชั่วโมง

4.2 ปฏิกิริยาของภาคเอกชน อาทิ American Chamber of Commerce

เห็นว่า เหตุการณ์ก่อการร้ายกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2559 น่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจแก่อินโดนีเซียในระยะสั้น โดยเฉพาะในแง่ของการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง เนื่องจากการก่อเหตุเกิดขึ้นในที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของตะวันตก เช่น ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ซึ่งในวันเกิดเหตุได้ปิดให้บริการทันที แต่ในปัจจุบันได้เปิดทำการตามปกติแล้ว อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เยือนจาการ์ตาคิดเป็นร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนอินโดนีเซียทั้งหมดเท่านั้น จึงน่าจะมีผลกระทบน้อยกว่าการเกิดเหตุระเบิดที่บาหลีเมื่อปี ค.ศ. 2002 ที่มีชาวต่างชาติเสียชีวิตกว่า 200 คน นอกจากนั้น นักลงทุน ตปท. ได้เริ่มปรับตัวกับการคาดการณ์การก่อการร้ายจากแหล่งข่าวและประสบการณ์ที่ทำธุรกิจในอินโดนีเซียทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ JCI และเงินสกุลรูเปียห์ปรับลดลงเพียงเล็กน้อย และปรับเข้าสู่การซื้อขายปกติในวันถัดไป อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เอกชนบางแห่งคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอินโดนีเซียลดลงประมาณร้อยละ 0.25 สำหรับไตรมาส 1/2559 จากการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และการชะลอการจับจ่ายของประชาชน

4.3 ในปี 2558 การส่งออกจากไทยมายังอินโดนีเซียมีมูลค่าประมาณ 7,165 ล้านดอลลารสหรัฐ

ลดลงร้อยละ 19.17 (ม.ค.-พ.ย. 58 YoY) และไทยยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายการปราบปรามการทำประมงของเรือประมงต่างชาติในน่านน้ำอินโดนีเซียอย่างผิด กม. ตลอดจนการไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซียซึ่งส่งผลให้สินค้าประมงไม่เป็นสินค้านำเข้าจากอินโดนีเซียในลำดับต้นเช่นในอดีต อย่างไรก็ดี ในปี 2558อินโดนีเซียได้ประกาศรับรอง Pest Free Area ในพื้นที่ จ. ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกหอมแดงของไทย ทำให้หอมแดงสามารถขึ้นท่าที่ท่าเรือ Tanjung Priok กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นท่าเรือหลักได้เพิ่มเติม นอกจากนี้ รบ.อินโดนีเซียได้สั่งซื้อข้าวจากไทยผ่าน Bulog เป็นจำนวน 500,000 ตัน น่าจะมีส่วนกระตุ้นการส่งออกของไทยดีขึ้น (ซึ่ง สอท. จะได้รายงานแยกในเรื่องนี้ต่อไป) ในด้านการลงทุน ด้านเอกชนไทยยังคงสามารถขยายการลงทุนในอินโดนีเซียได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงปูนของ SCG ที่ Sukabumi ได้เริ่มดำเนินการผลิตเมื่อ พ.ย. 2558 และ บ. Ichitan ได้เข้ามาลงทุนและขยายตลาดสินค้าเครื่องดื่ม


22 มกราคม 2559
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา