รายงานเศรษฐกิจ ปี 2554

ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซีย
รอบไตรมาส 3/2554

1. การค้าระหว่างประเทศของอินโดนีเซีย

1.1 ในช่วง ม.ค. – ส.ค. 54 การส่งออกของอินโดนีเซีย คิดเป็นมูลค่า 134.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 36.58 จากปี 2553 โดยสินค้าที่ไม่ใช่แก๊สและน้ำมัน (non oil and gas) คิดเป็นมูลค่า 107.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าของอินโดนีเซีย คิดเป็นมูลค่า 114.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งขยายตัวร้อยละ 30.90 เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2553 ทั้งนี้ ในปี 2554 รัฐบาล อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายการส่งออก ไว้ที่ประมาณ200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ถ่านหิน ปาล์มน้ำมัน โกโก้ กาแฟ และ สินค้าประมง ตลาดหลักการส่งออกของ อินโดนีเซียร้อยละ ๗๐ อยู่ในกลุ่มประเทศในเขตเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ ๑๒ และ ๑๐ ตามลำดับ

1.2 รัฐบาล อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ และจะเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดแถบแอฟริกา รวมทั้งอเมริกาใต้และตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จะเพิ่มการส่งออกสินค้าในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Down stream industries) รวมทั้งการ แปรรูปปาล์มน้ำมันและแร่ธาตุให้มากขึ้นโดยได้เร่งออกกฎหมายมาบังคับให้ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่ผลิตแทนการส่งออกในฐานะเป็นวัตถุดิบ (raw materials) เช่น ในอุตสาหกรรมถ่านหิน ฯลฯ นอกจากนี้จะเร่งยกระดับคุณภาพสินค้าส่งออกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปเพื่อรักษาตลาดส่งออกในยุโรป

2. การลงทุน

2.1 เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 54 กระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ได้ประกาศใช้กฎระเบียบส่งเสริมการลงทุนใน อินโดนีเซีย ได้แก่ (1) มาตรการ tax holiday หรือ corporate income tax exemption ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทซึ่งได้ลงทุนแล้วเป็นระยะเวลา 5 – 10 ปีใน 5 อุตสาหกรรม คือ basic metal industry, oil refinery industry and/or petrochemical industry, manufacture industry, renewable resources industry, telecomunication equipment industry โดยจะต้องมีมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำที่ 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สามารถขยายระยะเวลาได้ 2 ปี (2) มาตรการ tax allowances เพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บริษัทที่ร้อยละ 30 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดภายในระยะเวลา 6 ปี โดยจะต้องมีมูลค่าการลงทุนขึ้นต่ำที่ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และพื้นที่โครงการ อยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกล เพื่อกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการกระจายความเจริญให้ทั่วถึง ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการประสานการลงทุน อซ. (BKPM) และกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาข้อเสนอโครงการลงทุนเป็นกรณีไป

2.2 BKPM เร่งเชิญนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากขึ้น โดยในเดือน ก.ย. 2554 ปธ. BKPM ได้เดินทางไปร่วมงาน Asia-Pacific Week Berlin 2011 ซึ่งได้จัด Indonesian Business Day และ เชิญชวนนักธุรกิจหลากหลายสาขามาลงทุนในอินโดนีเซียในช่วงที่เกิดวิกฤต เศรษฐกิจในยุโรป นอกจากนี้ BKPM ยังจัดงาน business forum สำหรับนักลงทุนชาวรัสเซีย โดย ปธ. BKPM เป็นประธานการจัดงานซึ่งได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานส่วนภูมิภาคจาก North Sumatra, North Sulawesi, East Kalimantan และ West Nusatenggara เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อให้นักลงทุนรัสเซียและหน่วยงานส่วนภูมิภาคพบปะกันโดยตรง

3. การธนาคาร

3.1 ธนาคารกลาง อินโดนีเซียได้จัดทำ stress tests ภายใต้สมมติฐานต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปและในสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อการบริหารจัดการระบบธนาคารในอินโดนีเซียและเปิดเผยว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการธนาคารในอินโดนีเซียมากนัก เพราะ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย กำหนดให้ Capital Adequacy Ratio (CAR) อยู่ระดับที่ร้อยละ 8 ซึ่งอยู่ในระดับเพียงพอที่จะทำให้ปลอดภัยและทำธุรกรรมได้

3.2 ธนาคารกลางอินโดนีเซีย อยู่ในระหว่างออกกฎระเบียบกำหนดสัดส่วนการถือครองหุ้น ในกิจการธนาคารของนักลงทุนต่างชาติ โดยต่อไปนักลงทุนต่างชาติจะถือหุ้นในธุรกิจธนาคารเกินกว่าร้อยละ 50 ไม่ได้เพื่อป้องกันมิให้นักลงทุนไม่กี่รายสร้างอิทธิพลในการบริหารจัดการธุรกิจธนาคาร

3.3 ปธ. ธนาคารกลางอินโดนีเซียเปิดเผยว่า อัตราการปล่อยเงินกู้ของอินโดนีเซียตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.ย. 2554 ขยายตัวร้อยละ 23.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา โดยเงินกู้เพื่อการลงทุนขยายตัวมากที่สุดร้อยละ 30.1 เงินกู้เพื่อการบริโภคร้อยละ 24.8 ซึ่งเงินกู้เพื่อการบริโภคคิดเป็นร้อยละ 30 ของสินเชื่อทั้งหมดซึ่ง ธนาคารกลางอินโดนีเซียพยายามควบคุมไม่ให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคโดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ขยายตัวมากเกินไป เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะฟองสบู่ ทั้งนี้ ธนาคารกลาง อินโดนีเซียอาจจะประกาศกฎระเบียบควบคุมวงเงิน down payment สำหรับเงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อลดการขยายตัวของการปล่อยเงินกู้ในภาคดังกล่าวซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อระดับภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศที่อาจสูงเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เป็นที่ ร้อยละ 5.65 ในปี 2554

4. การบริหารการคลังสาธารณะ

4.1 อธ. กรมการจัดเก็บภาษี (Taxation) เปิดเผยว่า กรมการจัดเก็บภาษีกำลังทำการสำมะโนผู้เสียภาษีอากรนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยการสำมะโนในช่วงแรกจะเริ่มขึ้นระหว่างเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2554 และคาดว่าจำนวนผู้เข้าข่ายต้องเสียภาษีอากร ในปี 2555 เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้รายได้ที่รัฐจะจัดเก็บในปีหน้าสูงขึ้นทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บภาษีเงินได้ (ซึ่งตามปกติคิดเป็นร้อยละ 75 ของรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้ทั้งหมด) ในปี 2555 สูงขึ้นจากปีนี้ร้อยละ 16 ทั้งนี้ ตัวเลขการจัดเก็บภาษีน่าจะสูงขึ้นในปีหน้าเพราะการสำรวจข้างต้นน่าจะเพิ่มฐานการจัดเก็บภาษีและทำให้อัตราการจัดเก็บภาษีต่อ GDP เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย (ในปี 2554 รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดเป้าหมายอัตราการจัดเก็บภาษีต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 12.2 และในปี 2555 อยู่ที่ ร้อยละ 12.6)

4.2 รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิในปี 2551 อินโดนีเซียเรียนรู้ว่าภาคการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียสามารถขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี รมว. คลัง อินโดนีเซียยังมิได้เปิดเผยรายละเอียดต่างๆ แต่คาดว่ารัฐบาลน่าจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงต้นปี 2555

5. ภาคพลังงาน

5.1 การผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ BPMigas เปิดเผยว่า กำลังการผลิตน้ำมันในเดือน ก.ย. 2554 น่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 905,000 บาเรลล์ต่อวันเป็น 916,000 บาเรลล์ต่อวันในขณะที่เป้าหมายในปีนี้คือ 945,000 บาเรลล์ต่อวัน เพื่อเป็นการเร่งการผลิตให้บรรลุเป้าหมายในปี 2554 BPMigas ได้ขอให้ผู้รับเหมาที่ได้รับสัมปทานการขุดเจาะและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มความถี่ในการซ่อมบำรุงให้มากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาทางเทคนิค ในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ดี ผู้รับเหมาที่ได้รับสัมปทานการขุดเจาะและผลิตฯ ยังคงลังเลที่จะปฏิบัติตามเนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล

รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการขุดเจาะและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ อยู่ในระหว่างการแก้ไขกฎระเบียบ cost recovery ซึ่งจะกำหนดสัดส่วนที่รัฐบาลจะคืนค่าใช้จ่ายให้กับผู้รับเหมาที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมื่อโครงการสามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้แล้ว ทั้งนี้ ความล่าช้าในการออกกฎระเบียบดังกล่าวทำให้เกิดความล่าช้าในการลงทุนขุดเจาะและผลิตซึ่งจะมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการผลิตน้ำมันของ อินโดนีเซียในปีนี้และในอนาคตอีกด้วย

5.2 การผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศอินโดนีเซียพยายามมีพัฒนา การใช้พลังงานจากแหล่งอื่นๆ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากเดิมที่เน้นเพียงจากน้ำมันเชื้อเพลิงและถ่านหิน

บริษัท PLN ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของ รัฐที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเปิดเผยว่า อินโดนีเซียกำลังจะก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 115 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ในไตรมาสแรกของปี 2555 และหากประสบความสำเร็จก็จะสร้างโรงงานแบบนี้อีกประมาณ 1,000แห่งบนเกาะเล็กเกาะน้อยต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงงานที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ เมือง Bunaken บนเกาะสุลาเวสีตอนเหนือ เมือง Wakatobi และ Tomiya บนเกาะสุลาเวสีตะวันออกเฉียงใต้ เมือง Banda บนเกาะ Maluku เมือง Raja Ampan บนเกาะปาปัว และเมือง Derawan บนเกาะกาลิมันตันตะวันออก ปัจจุบัน มีเพียง 1 โรงงงานภายใต้โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วคือ เมือง Miangas บนเกาะสุลาเวสีตอนเหนือ ทั้งนี้ ในปัจจุบันอินโดนีเซียมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าได้แล้ว 50 แห่งและเป็นโรงงานฯ มิได้อยู่ในพื้นที่ของโครงการข้างต้น ราคาขายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันอยู่ที่ 660 รูเปียห์/วัตต์ (ประมาณ 2.2 บาท) ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 4,800 รูเปียห์/วัตต์

บริษัท PLN ได้เปิดเผยในไตรมาส 3/2554 ว่า ในปี 2555 บริษัทจะสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย (ภูมิภาคตะวันตกของอินโดนีเซีย มีประชากรกว่าร้อยละ 62 ที่เข้าถึงการใช้ไฟฟ้าแล้วในขณะที่ภูมิภาคตะวันออกยังคงล้าหลังอยู่) เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตจากน้ำมันเชื้อเพลิง และจะสร้างโรงผลิตไฟฟ้าดังกล่าวที่เกาะสุลาเวสี และปาปัว (โดยเฉพาะปาปัวตะวันตก) ทั้งนี้ กระบวนการจัดซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ จะเริ่มดำเนินในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่การก่อสร้างและการผลิตจะสามารถเริ่มได้ในปีหน้า

6. การพัฒนา SMEs

6.1 นาย Hatta Rajasa รมว. ประสานงานด้าน ศก. เปิดเผยว่ารัฐบาลอินโดนีเซีย มีแผนจะเพิ่มงบประมาณสำหรับโครงการปล่อยเงินกู้เพื่อ SMEs (KUR) สำหรับปี 2555 ให้เป็น 25 ล้านล้านรูเปียห์ (งบประมาณปี 2554 เป็น 20 ล้านล้านรูเปียห์หรือ 2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

6.2 Technology chamber ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ Assessment and Application of Technology Agency (BPPT) หรือ I-tech ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2544 เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาเทคโนโลยีได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการอินโดนีเซียที่สนใจยื่นข้อเสนอกับ BPPT เพื่อส่งเสริมให้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้ได้เชิงพาณิชย์ โดย I-tech จะเป็นผู้ประสานงานจัดหานักลงทุนที่สนใจมาช่วยทำแผนการขายและการส่งเสริมการขายเพื่อให้เกิดเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการเร่งเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการเทคโนโลยี (technopreneur) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบัน ร้อยละ 2 ของจำนวนประชากรอินโดนีเซียเท่านั้นที่เป็นผู้ประกอบการ ในขณะที่สิงคโปร์มีร้อยละ 7 ของประชากร

6.3 Indonesian Employers Association (Apindo) ได้ลงนาม MoU กับภาครัฐ (ก. การค้า อุตสาหกรรม) และ SMEs Association of Japan โดย

  1. Apindo และ ก. การค้าอินโดนีเซียจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกให้กับ SMEs เช่น การจัดอบรมเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ social compliance สำหรับการส่งออกสู่ตลาดประเทศกำลังพัฒนา การใช้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการส่งออก เป็นต้น

  2. Apindo และ ก. อุตสาหกรรมอินโดนีเซียจะร่วมมือกันปรับปรุงคุณภาพ ดีไซน์และตราผลิตภัณฑ์

  3. Apindo จะสร้างความร่วมมือกับ SMEs Association of Japan เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นถึงผู้ประกอบการ SMEsอินโดนีเซีย รวมถึงการชักชวนให้ผู้ประกอบการ SMEs ญี่ปุ่นที่ผลิตเครื่องนุ่งห่มและงานฝีมือย้ายฐานการผลิตมายัง อินโดนีเซียเพื่อลดต้นทุนการผลิตซึ่ง Apindo เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการ SMEs ญี่ปุ่นสนใจที่จะผลิตสินค้าที่อินโดนีเซีย เพื่อส่งออกไปขายยัง ญี่ปุ่น

1 พฤศจิกายน 2554
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา