รายงานเศรษฐกิจ ปี 2554

เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2554 และการคาดการณ์ในปี 2555

๑. ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคของอินโดนีเซียตามที่ปรากฏในสื่อท้องถิ่น

๑.๑ เมื่อวันที่ ๓ ม.ค. ๒๕๕๕ ปธน. อินโดนีเซียแถลงข่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส ๔ ขยายตัวที่ ร้อยละ ๖.๕ ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียนและประเมินว่า ปี ๒๕๕๔ GDP จะขยายตัวร้อยละ ๖.๕ หรือ ๘๒๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์หลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ๑๙๗๗

๑.๒ ปัจจัยเสริมการขยายตัวในปี ๒๕๕๔ คือ การบริโภคภายใน (สัดส่วนร้อยละ ๖๐) การส่งออก (สัดส่วนร้อยละ ๒๗) และการลงทุนจากต่างประเทศ โดยในปี ๒๐๑๑สินเชื่อเพื่อการบริโภคขยายตัวกว่าร้อยละ ๒๖ จึงกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์และจักรยานยนต์) และอสังหาริมทรัพย์ การส่งออก ขยายตัวได้ดีใน สินค้าโภคภัณฑ์ ( commodities) ได้แก่ ถ่านหิน ปาล์มน้ำมันดิบ ซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐอเมริกาทำให้การนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียลดลงตั้งแต่เดือน ก.ย. ๒๕๕๔ แต่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศเศรษฐกิจใหม่ ( market diversification to emerging economies) เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และ จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิลทดแทน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาการค้าทวิภาคีไทย – อินโดนีเซีย คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๑๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สอท. ประมาณการจากข้อมูลของ พณ. ไทยว่า ปริมาณการค้าไทย – อินโดนีเซียน่าจะอยู่ที่ประมาณ ๑๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

๑.๓ BKPM เปิดเผยว่า การลงทุนภายในประเทศ (Domestic Direct Investment – DDI) และการ ลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ในปี ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕ สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ ร้อยละ ๑๕ คิดเป็น มูลค่า ๒๖๐ ล้านล้านรูเปียห์ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๓ ที่มีมูลค่าเป็น ๒๐๘ ล้านล้านรูเปียห์ (เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๓ ประมาณ ๒๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเริ่มกระจายออกไปนอกเกาะชวาซึ่งเป็นผลจากมาตรการสร้างแรงจูงใจ ได้แก่ Tax holiday และ Tax allowances ซึ่งออกประกาศ เมื่อ ส.ค. ๒๕๕๔ (โทรเลข สอท. ที่ JKT ๑๐๐๒/๒๕๕๔ ลว. ๑ พ.ย. ๒๕๕๔) ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ซึ่งเป็นแหล่งที่เงินทุนไหลเข้ามากสุดเริ่มลดลงจากปีก่อนๆ และไหลไปในสาขาโครงสร้างพื้นฐานและ non-mining ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเมื่อวันที่ ๑๕ ธ.ค. ๒๕๕๔ Fitch Ratings ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนของอินโดนีเซียจาก BB+ เป็น BBB- และวันที่ ๑๖ ธ.ค. ๒๕๕๔ รัฐสภาอินโดนีเซียอนุมัติกฎหมายเวนคืนที่ดิน ( Land Acquisition)

๒. มาตราการที่รัฐบาลอินโดนีเซียดำเนินการในปี ๒๕๕๔

๒.๑ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือร้อยละ ๖ ปี ๒๕๕๔ ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ๒ ครั้ง จากร้อยละ ๖.๗๕ ลงเป็นร้อยละ ๖.๕๐ และสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๕๔ ปรับลดลงเหลือร้อยละ ๖.๐ เพราะอัตราเงินเฟ้อในประเทศ (CPI) ลดลงอย่างต่อเนื่อง (เพียงประมาณร้อยละ ๔.๑๕ ในช่วงเดือน ธ.ค.) ประกอบกับอินโดนีเซียประสบปัญหาค่าเงินรูเปียห์ และดัชนีตลาดหลักทรัพย์อ่อนตัว และลดลงอย่างรุนแรงเพราะนักลงทุนวิตกกับวิกฤตในยุโรปและสหรัฐฯ ธนาคารกลางจึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่ส่งผลในทางปฏิบัติเพราะธนาคารพาณิชย์ยังเลี่ยงที่จะลดอัตราดอกเบี้ยของตนลง นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังเข้าแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์โดยใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจึงทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของอินโดนีเซียซึ่งเดิมมีอยู่ประมาณ ๑๒๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลืออยู่ในขณะนี้ประมาณ ๑๑๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

๒.๒ การปรับขึ้นค่าแรง ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุประท้วงรุนแรงเพื่อขอขึ้นค่าแรงหลายที่ เช่น เมือง Freeport เกาะปาปัว เกาะ Batam เมือง Bekasi ในจังหวัดชวาตะวันตก สุดท้ายรัฐบาลอินโดนีเซียจึงปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยร้อยละ ๙ ทุกจังหวัดยกเว้น จ. ปาปัวมีผลใช้บังคับใช้เดือน ก.พ. ๒๕๕๕ ทั้งนี้ แรงงานในกรุงจากาตาร์ปรับขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ ๑๘.๕๔ หรือคิดเป็นเงิน ๑,๕๒๙,๑๕๐ รูเปียห์/เดือน ขณะที่ จ. Gorontalo เพิ่มขึ้นต่ำสุดเพียงร้อยละ ๙.๘๔ หรือคิดเป็นเงิน ๘๓๗,๐๐๐ รูเปียห์ต่อเดือน ซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทางหนึ่งจะเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการในอินโดนีเซีย แต่ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง เพราะกำลังซื้อของภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มีข่าวด้วยว่า รัฐบาลจะปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการอีกประมาณร้อยละ ๑๐ เช่นกัน

๒.๓ การออกกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายใน สื่อท้องถิ่นรายงานถึงการออกกฎระเบียบหลายประการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในและมีนัยเป็นการกีดกันทางการค้า (protectionism) ซึ่งสะท้อนผ่านการเปลี่ยน รมว.การค้าจากนาง Mari Elka Pangestu เป็นนาย Kita Wirjawan เพราะ รมว. Mari สนับสนุนการค้าเสรีในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอินโดนีเซียเห็นว่านาย Kita สนับสนุนผู้ประกอบการภายในและเป็นไปในทิศทางเดียวกับนาย Hidayat รมว. อุตสาหกรรมซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น Champion of protectionism ทั้งนี้ เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา รมว. การค้าเปิดเผยว่า รัฐบาลวางแผนจะขยายประเภทของสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับ Indonesian National Standard System (SNI) เพิ่มขึ้นเพื่อปกป้องผู้ผลิตและตลาดภายในประเทศ เพราะคาดว่าประเทศต่างๆ จะส่งสินค้ามายังอินโดนีเซียมากขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยควรติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กฎระเบียบที่ปรากฏข่าวว่าจะประกาศใช้ / หรือใช้และกระทบไทยในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่

  • กฎระเบียบกำหนดให้ผู้ส่งออก หรือ ผู้ให้กู้ยืมระหว่างประเทศที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจะต้องนำเงินตราต่างประเทศกลับเข้ามาฝากกับธนาคารในประเทศเท่านั้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับอย่างจริงจังในปี ๒๐๑๒ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจไทยที่มีสำนักงานในอินโดนีเซียต้องนำเงินกลับเข้าอินโดนีเซียภายหลังทำธุรกรรมแล้วเสร็จเท่านั้น

  • กฎระเบียบให้ผู้ส่งออกถ่านหินจะต้องแปรรูปถ่านหินก่อนส่งออก เพราะอินโดนีเซียเห็นว่า ถ่านหินที่ขุดได้ในอินโดนีเซียเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ จึงบังคับให้ผู้ส่งออกถ่านหินต้องมีโรงงานเผาแปรรูป (smelter) ให้ถ่านหินกลายเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพสูง (ความชื้นน้อย) ก่อนส่งออก ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี ๒๐๑๔ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น เพราะโรงงานเผาแปรรูปดังกล่าวในอินโดนีเซียยังมีน้อย และต้องใช้เทคโนโลยีและเงินลงทุนสูง นอกจากนี้ ในปี ๒๐๑๒ รัฐบาลอินโดนีเซียจะเริ่มเก็บภาษีส่งออกถ่านหินที่ไม่ได้แปรรูปด้วย เพื่อเป็นการกึ่งบังคับให้ผู้ประกอบการเร่งสร้างโรงงานเผาแปรรูปก่อนมีการบังคับใช้จริงในปี ๒๐๑๔

  • กฎระเบียบห้ามนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ในธุรกิจสถาบันการเงิน และใช้กฎระเบียบ multi-licensing โดยนักลงทุนที่ลงทุนในสถาบันการเงินซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทในอินโดนีเซียต่อไปจะไม่สามารถถือหุ้นได้เกินกว่าร้อยละ ๕๐ (ปัจจุบันอนุญาตให้ถือได้ถึงร้อยละ ๑๐๐) และจะนำระเบียบการออกใบอนุญาตหลายใบ (multi-licensing) มาใช้ คือ สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตต่อไปจะไม่ใช่ได้รับใบอนุญาตเดียวสามารถประกอบธุรกิจได้ทั้งหมด แต่ต่อไปการประกอบธุรกิจในแต่ละสาขาจะต้องมีใบอนุญาตแยก ซึ่งอาจรวมถึงใบอนุญาตการเปิดสาขาด้วย ทั้งนี้ กฎระเบียบดังกล่าวยังไม่มีกำหนดประกาศใช้แน่นอนเพราะ รปธน. อินโดนีเซียเห็นว่า อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติลดความสนใจ (discourage) ที่จะเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียจึงขอให้ธนาคารกลางเลื่อนไปก่อน

  • กฎระเบียบการตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออกทางอากาศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถตรวจสอบการนำเข้าส่งออกที่สนามบินซูการ์โน-ฮัตตาได้ และสินค้าที่จะนำออกจากท่าจะต้องถูกเอ็กซ์เรย์แบบเป็นรายการไม่ใช่ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งระเบียบดังกล่าวทำให้จำนวน ผู้ประกอบที่เคยได้รับอนุญาตถึงกว่า ๑,๐๐๐ รายเหลือเพียง ๓ ราย และค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในการนำสินค้าออกสูงขึ้นอย่างมาก (จาก ๖๐ รูเปียห์ต่อ กก. เป็น ๗๕๐ รูเปียห์ต่อ กก.) ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้รับการต่อต้านมาก ขณะนี้ รัฐบาลจึงชะลอการใช้ไปก่อน

  • กฎหมายเวนคืนได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดราคาซื้อขายที่ดินที่จะเวนคืนได้ตามราคาตลาด ซึ่งคาดว่าจะทำให้การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานพัฒนาได้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมาประสบปัญหาการเวนคืน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถกำหนดราคาได้ แต่จะต้องเจรจากับเจ้าของที่ดินให้ได้ราคาที่พึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายเท่านั้น


กฎกระทรวงประมงฉบับที่ ๑๗/๒๐๑๐ เพราะตามระเบียบ ผู้ส่งออกสินค้าจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบควบคุมคุณภาพและจะต้องมีหมายเลขประจำตัวผู้นำเข้า ใบอนุญาตประกอบการอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ และหนังสือรับรองจาก จนท. ประมงจังหวัด ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี ๒๐๑๐

กฎระเบียบควบคุมการนำเข้าผักและผลไม้ โดยประกาศควบคุมการนำเข้าผักและผลไม้ประมาณ ๑๐๐ รายการ โดยเฉพาะพืชชนิดหัว เช่น หอมแดง และควบคุมท่าเทียบเรือนำเข้าพืชผักและผลไม้โดยลดจำนวนลงจาก 8 ท่าเรือ เหลือเพียง 4 ท่าเรือ ซึ่งกฎระเบียบนี้ จะมีผลใช้บังคับประมาณเดือน เม.ย. ๒๐๑๒

๓. การคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี ๒๕๕๕ (๒๐๑๒)

๓.๑ คณะกรรมการเศรษฐกิจ (KEN) และสภาหอการค้าอินโดนีเซีย (KADIN) ซึ่งเป็นฝ่ายเอกชนประมาณการว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นและ ถูกขับเคลื่อนโดยภาคการบริโภคภายใน การส่งออก และการลงทุนเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะประมาณร้อยละ ๖.๒-๖.๔ และ GDP น่าจะมีมูลค่ากว่า ๙๔๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (GDP ปี ๒๐๑๑ ประมาณ ๘๒๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อัตราการเติบโตของภาคการลงทุน น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๖.๘ – ๗.๒ (ปี๒๐๑๑ :ร้อยละ ๗.๘) การส่งออกน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ ๙.๘ – ๑๐.๓ (ปี๒๐๑๑ :ร้อยละ ๑๕.๒) เงินเฟ้อที่อัตราร้อยละ ๔.๕ –๕.๕ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มลดลงเพราะอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกตกต่ำจากวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งมีแนวโน้มจะฟื้นตัวช้าและเศรษฐกิจจีนที่และอินเดียเริ่มชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ราคาอาหาร โดยเฉพาะข้าวสารน่าจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเหมือนเช่นปีที่ผ่านมาหลังเทศกาลละศีลอด และในปีนี้ หลายประเทศประสบอุทกภัย ดังนั้น ราคาอาหารน่าจะขยับสูงขึ้น การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐบาลคาดว่าจะสูงขึ้นกว่าปี๒๐๑๑ เพราะมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะเติบโตร้อยละ ๔.๗-๕.๑ และการใช้จ่ายภาครัฐบาลจะเติบโตร้อยละ ๗.๕-๘ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณให้ทันกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ร้อยละ ๕.๕-๖ ในปีนี้ เงินรูเปียห์จะยังคงแข็งค่า เพราะธนาคารกลางจะเข้าแทรกแซงตลาดและการบริโภคภายในยังคงแข็งแกร่ง

๓.๒ งบประมาณปี ๒๐๑๒ รัฐบาลตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจปี ๒๐๑๒ น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ ๖.๗ (ธนาคารกลางประมาณการไว้ร้อยละ ๖.๕) การส่งออกน่าจะคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๒๓๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี ๒๐๑๑ : ประมาณ ๑๙๘.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเข้ามาในอินโดนีเซียประมาณ ๘ ล้านคน (ปี ๒๐๑๑ : ประมาณ ๗.๗ ล้านคน) โดยรัฐบาลจะใช้วงเงินงบประมาณรายจ่าย ๑,๔๓๕.๔๓ ล้านล้านรูเปียห์ (๑๕๗.๕๗๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๗ จากปีก่อนเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวให้ GDP อินโดนีเซียเติบโตถึง ๙๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในวงเงินรายจ่ายดังกล่าวเป็นงบแบบขาดดุลย์ (ร้อยละ ๑.๕ ของ GDP ลดลงจากร้อยละ ๒.๑ ในปี ๒๐๑๑) เพราะรัฐบาลหารายได้ได้เพียง ๑,๓๑๑.๔ ล้านล้านรูเปียห์ และจะจัดสรรเป็นงบรายจ่ายของรัฐบาลกลาง ๙๖๕ ล้านล้านรูเปียห์ ส่วนท้องถิ่น ๔๗๐.๔ ล้านล้านรูเปียห์ งบประมาณ ๒๐๑๒ใช้ในการส่งเสริมสาธารณูปโภคพื้นฐานประมาณร้อยละ ๑๐ ของวงเงินงบประมาณ (ร้อยละ ๗ เป็นถนน / ท่าเรือ / ท่าอากาศยาน /ทางรถไฟ / โรงไฟฟ้า) และใช้ในส่วนของการศึกษา ๒๙๐ ล้านล้านรูเปียห์ (ร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณ และเป็นงบสาธรณสุขและความมั่นคงอาหารร้อยละ ๖ ของงบประมาณ แต่เป็นงบอุดหนุนค่าพลังงานถึงร้อยละ ๑๔ (๒๐๘.๙ ล้านล้านรูเปียห์) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แม้ว่ารัฐบาลประกาศต่อสาธารณะว่า จะลดลง และในเดือน เม.ย. จะยกเลิกการให้สิทธิรถเอกชนใช้น้ำมันที่ได้รับการอุดหนุนราคา ก็ตาม นอกจากนี้ งบกลาโหมยังได้รับการเพิ่มขึ้นมากเป็น ๗๒.๕ ล้านล้านรูเปียห์ (ร้อยละ ๕ ของงบประมาณ) หรือประมาณร้อยละ ๑ ของ GDP ซึ่งสะท้อนความตั้งใจของ ปธน. ที่ต้องการจะพัฒนากองทัพให้ทันสมัยขึ้น และจะปรับปรุงยุทธโธปกรณ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น



มกราคม 2555
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา