รายงานเศรษฐกิจ ปี 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2567 ของอินโดนีเซีย
สถิติสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2567
- จำนวนประชากร 283.48 ล้านคน (ณ เดือน ม.ค. 2568)
- จำนวนประชากรวัยแรงงาน สำรวจ ณ เดือน ส.ค. 2567 มี 152.11 ล้านคน โดยมีอัตราว่างงาน 7.47 ล้านคน
- อัตราความยากจน 24.06 ล้านคน (คิดเป็น 8.57% ของประชากรทั้งหมด) สำรวจ ณ เดือน ก.ย. 2567
- อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ร้อยละ 6 (ณ เดือน ม.ค. 2568)
- อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 16,431 IDR/1 USD (ณ เดือน ก.พ. 2568)
- จำนวนเงินสำรองระหว่างประเทศ 155.71 พันล้าน USD (ณ เดือน ธ.ค. 2567)
- อัตราเงินเฟ้อ (ตาม consumer price index) ณ เดือน ม.ค. 2568 อยู่ที่ 0.76% โดยเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางอินโดนีเซีย(Bank Indonesia) อยู่ที่ 2.5±1%
- การเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth) 10.39% yoy (ณ เดือน ธ.ค. 2567)
- อัตราเงินเดือนขั้นต่ำของกรุงจาการ์ตา 5.39 ล้าน IDR (ณ เดือน ธ.ค. 2567)
GDP ในปี 2567
ขยายตัว 5.03%
ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของรัฐบาลอินโดนีเซีย (5 - 5.02%) เล็กน้อย แต่ต่ำกว่าเป้าหมายระยะแรกที่เคยตั้งไว้ช่วงต้นปี 2567 (5.2%) โดย GDP มีมูลค่า 22,138.96 ล้านล้าน IDR (1,351.64 พันล้าน USD) และ GDP per capita มีมูลค่า 78.6 ล้าน IDR (4,960.3 USD) โดยสาขาเศรษฐกิจที่มีส่วนส่งเสริมการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ คือ การค้า เกษตรกรรม การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมเหมืองและการแปรรูปแร่
ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจในช่วงปี 2567 ขยายตัว
(1) ตลาดและกลุ่มประชากรขนาดใหญ่
โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีสัดส่วนประมาณ 54% ของ GDP
(2) การลงทุนทำได้เกินเป้าหมายประจำปีที่ ปธน. ขณะนั้น (นายโจโก วิโดโด) กำหนดไว้
โดยมีการลงทุนทั้งปีมูลค่า 104.2 พันล้าน USD ขยายตัว 20.8% yoy (เดิมตั้งเป้าหมายที่ 1,650 ล้านล้าน IDR หรือ 103.8 พันล้าน USD) ซึ่งนอกเหนือจากการที่กระทรวงการลงทุนและอุตสาหกรรมปลายน้ำให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกการลงทุนอย่างแข็งขันแล้ว ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เรียบร้อย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน อนึ่ง ในด้านของการส่งออกนั้น แม้จะยังไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง และอินโดนีเซียยังได้ดุลการค้า แต่มูลค่ารวมของการส่งออกในปี 2567 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 เห็นได้จากราคาสินค้าส่งออกสำคัญในตลาดโลก และภาคการผลิตก็ค่อย ๆ ชะลอตัวลงจากการลดการสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า (โดยเฉพาะจีน) ทำให้เกิดการ layoff และกำลังซื้อทางเศรษฐกิจลดลง ส่งผลให้อินโดนีเซีย มีชนชั้นกลางจำนวนน้อยลง
ภาพรวมการค้าการลงทุนระหว่างไทย – อินโดนีเซียในปี 2567
ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2567
มูลค่าการค้าไทย – อินโดนีเซีย อยู่ที่ 18,235.13 ล้าน USD หดตัว 0.74% yoy (อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทยในโลก และอันดับ 3 ในอาเซียน) โดยไทยส่งออกไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 9,471.88 ล้าน USD และนำเข้าจากอินโดนีเซียมูลค่า 8,763.25 ล้าน USD จึงยังได้ดุลการค้ารวม 708.63 ล้าน USD (ลดลง 60.93% yoy)
ในส่วนของการลงทุน ข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซีย
ระบุว่า ในปี 2567 ไทยลงทุนในอินโดนีเซียจำนวน 389.7 ล้าน USD (อันดับที่ 13 จากทั่วโลก) และตามข้อมูลของ BOI ไทย (เดือนม.ค. - ก.ย. 2567) การลงทุนของอินโดนีเซียได้รับการส่งเสริมจาก BOI จำนวน 7.855 พันล้านบาท (ประมาณ 232.24 ล้าน USD) ใน 4 โครงการ ถือเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 10 ของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว
การท่องเที่ยว
ในภาพรวม ชาวอินโดนีเซียยังคงนิยมมาเที่ยวไทย โดย ททท. ระบุว่า ในปี 2567 มี นทท. จากอินโดนีเซียเดินทางเข้าไทยจำนวน 876,610 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 (234,328 คน) และปี 2566 (760,938 คน) และมากกว่าจำนวน นทท.อินโดนีเซียที่เดินทางมาไทยในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 (706,908 คน) ขณะที่ตัวเลข นทท. ไทยที่เดินทางไปเที่ยวอินโดนีเซียระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ย. 2567 อยู่ที่ 110,275 คน