รายงานเศรษฐกิจ ปี 2567
สถิติเศรษฐกิจและการลงทุนในอินโดนีเซีย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 (เดือนเมษายน - มิถุนายน 2567)
1. เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาสที่ 2/2567
1.1 ขยายตัว 5.05% yoy
ซึ่งต่ำกว่าการขยายตัวในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งขยายตัวถึง 5.17% และต่ำกว่าการขยายตัวในไตรมาส 1/2567 ที่ 5.11% โดยสาเหตุจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมสาขาหลัก (เกษตรกรรม การผลิตสินค้า และการค้า/ส่งออก) และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงความผันผวนของราคาสินค้าส่งออกหลัก
ทั้งนี้ อินโดนีเซียตั้งเป้าจะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างน้อย 5.2% สำหรับปี 2567 ในภาพรวม โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจการส่งออกและผลผลิตจากเหมืองแร่ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ (ถ่านหิน เหล็ก แร่อื่น ๆ) ไปยังคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน อินเดีย ฯลฯ
2. การลงทุนในไตรมาส 2/2567
2.1 ธุรกิจที่ได้รับ FDI และ DDI มากที่สุด 5 อันดับแรก
คือ (1) ธุรกิจเหล็กกล้า การแปรรูปและผลิตสินค้าจากเหล็กกล้าที่ไม่ใช่เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ (2) ธุรกิจเหมืองแร่ (3) ธุรกิจด้านคมนาคม โกดังสินค้า และการสื่อสาร (4) ธุรกิจบ้าน สำนักงาน อสังหาริมทรัพย์ และ (5) ธุรกิจอื่น ๆ
2.2 ธุรกิจที่ได้รับ FDI มากที่สุด 5 อันดับแรก
คือ (1) ธุรกิจเหล็กกล้า การแปรรูปและผลิตสินค้าจากเหล็กกล้าที่ไม่ใช่เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ คิดเป็น 30.3% ของ FDI ทั้งหมดในไตรมาสนี้ (2) ธุรกิจอื่น ๆ (3) ธุรกิจเหมืองแร่ (4) ธุรกิจการจัดหาไฟ ก๊าซ และน้ำประปา และ (5) ธุรกิจเคมีภัณฑ์และยา อนึ่ง พื้นที่ที่ได้รับ การลงทุน FDI สูงสุด 5 อันดับแรกคือ ชวาตะวันตก สุลาเวสีกลาง กรุงจาการ์ตา มะลูกูเหนือ และบันเติน
2.3 อุตสาหกรรมปลายน้ำสาขาหลักที่อินโดนีเซียต้องการส่งเสริม
มีมูลค่าการลงทุนในไตรมาสนี้รวม 6.72 พันล้าน USD คิดเป็น 24.6% ของการลงทุนทั้งหมดในไตรมาสนี้ แยกออกเป็นแต่ละสาขาดังนี้ (1) การถลุงแร่ ได้รับการลงทุน 4.52 พันล้าน USD โดยในจำนวนนี้ การถลุงนิกเกิลได้รับการลงทุน 3.03 พันล้าน USD (2) การผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ มูลค่า 714.39 ล้าน USD (3) การผลิตน้ำมันปาล์ม/Oleochemical 797.3 ล้าน USD (4) ธุรกิจปิโตรเคมี 370 ล้าน USD และ (5) การผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า 331.78 ล้าน USD
2.4 ผู้ที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด 5 ลำดับแรกในไตรมาสที่ 2/2567
ได้แก่ (1) สิงคโปร์ 4.6 พันล้าน USD (2) จีน 2 พันล้าน USD (3) จีน (ฮ่องกง) 1.9 พันล้าน USD (4) เกาหลีใต้ 1.3 พันล้าน USD และ (5) สหรัฐอเมริกา 0.9 พันล้าน USD ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 15 ในไตรมาสนี้ โดยมีมูลค่าการลงทุน 83 ล้าน USD
3. การคาดการณ์เศรษฐกิจในระยะต่อไป/อนาคต
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (นาย Joko Widodo) ตั้งเป้าว่าจะเพิ่ม GDP ต่อหัวของอินโดนีเซีย ให้เกิน 7,000 USD ภายในปี ค.ศ. 2029 และ 9,000 USD ภายในปี ค.ศ. 2039 (ปัจจุบัน GDP ต่อหัวของอินโดนีเซีย อยู่ที่ 5,060 USD) โดยระบุว่าตราบใดที่สามารถทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียขยายตัวได้ปีละ 5% เป็นอย่างต่ำ หรือตามเป้าหมายของ ประธานาธิบดี Prabowo Subianto ที่ตั้งเป้าไว้ปีละ 8% ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมาย GDP ต่อหัวข้างต้นได้ไม่ยาก โดยเน้นย้ำการใช้ทรัพยากรของประเทศทั้งหมดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ นาง Sri Mulyani รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอินโดนีเซียระบุว่า นโยบายการคลังของรัฐบาลนาย Jokowi ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถูกกำหนดขึ้นบนพื้นฐานที่ต้องการให้อินโดนีเซียหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยการเพิ่ม productivity ของประเทศผ่านการดำเนินการ 2 ส่วนหลัก คือ (1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข และการวางแผนครอบครัว (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและดิจิทัล รวมถึงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่ NRE
World Bank เห็นว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียน่าจะขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 2 ปีถัดจากนี้ แต่น่าจะต้องมี ปาฏิหาริย์หากอินโดนีเซียจะสามารถบรรุเป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2045 ได้ (“For middle-income countries to have high income in decades rather than centuries, it would need a miracle,”) และเห็นว่าอินโดนีเซียจะต้องเร่งรัดการปฏิรูประบบราชการและกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานของภาครัฐและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเงิน แรงงาน การค้า การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนและประกอบธุรกิจ