รายงานเศรษฐกิจ ปี 2567

สถิติเศรษฐกิจและการลงทุนในอินโดนีเซีย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 (เดือนมกราคม - มีนาคม 2567)

1. เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 1/2567

1.1 ขยายตัว 5.11% yoy

(ต่ำกว่าที่รัฐบาลอินโดนีเซียคาดการณ์ไว้ที่ 5.17% yoy) โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (54.93%) โดยเฉพาะในระหว่างการเข้าสู่เทศกาลถือศีลอดและเทศกาลรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวอินโดนีเซียได้รับเงินโบนัส รวมถึงนโยบายเพิ่มการใช้จ่ายและประชานิยมในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้น โดย GDP (at current price) มีมูลค่า 5,288.3 ล้านล้าน IDR (329.13 พันล้าน USD)

1.2 ธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2567

อย่างมีนัยสำคัญ นอกเหนือจากการใช้จ่ายโดยภาครัฐ (Government Administration, Defense and Compulsory social security) และบริการด้านสุขภาพและกิจกรรมทางสังคมที่ขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปของ อซ. ได้แก่ บริการภาคเอกชน (company services) ขยายตัว 9.63% yoy ธุรกิจที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัว 9.39% yoy และธุรกิจเหมืองแร่ ขยายตัว 9.31% yoy


2. การลงทุนในไตรมาส 1/2567

2.1 มีมูลค่ารวม 401.5 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 25 พันล้าน USD)

ขยายตัว +9.8% qoq และ +16.2% yoy ตามลำดับ และสร้างงานให้ชาวอินโดนีเซีย 5.47 แสนคน

2.2 ในไตรมาสนี้ อินโดนีเซีย

(1) การลงทุนจาก ตปท. (FDI) มูลค่า 204.4 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 12.72 พันล้าน USD) ขยายตัว +10.84% qoq /+15.48% yoy และ (2) การลงทุนภายใน ปท. (DDI) มูลค่า 197.1 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 12.26 พันล้าน USD) ขยายตัว +8.65% qoq / +29.75% yoy

2.3 ธุรกิจที่ได้รับ FDI และ DDI มากที่สุด 5 อันดับแรก

คือ (1) ธุรกิจเหล็กกล้า การแปรรูปและผลิตสินค้าจากเหล็กกล้าที่ไม่ใช่เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ คิดเป็น 11.98% ของการลงทุนทั้งหมดในไตรมาสนี้ (2) ธุรกิจด้านคมนาคม โกดังสินค้า และการสื่อสาร 11.95% (3) ธุรกิจเหมืองแร่ 10.53% (4) ธุรกิจบ้าน สำนักงาน อสังหาริมทรัพย์ 7.32% และ (5) ธุรกิจอาหาร 7.22%

2.4 ธุรกิจที่ได้รับ FDI มากที่สุด 5 อันดับแรก

คือ (1) ธุรกิจเหล็กกล้า การแปรรูปและผลิตสินค้าจากเหล็กกล้าที่ไม่ใช่เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ คิดเป็น 20.2% ของ FDI ทั้งหมดในไตรมาสนี้ (2) ธุรกิจเหมืองแร่ 10.3% (3) ธุรกิจด้านคมนาคม โกดังสินค้า และการสื่อสาร 8.7% (4) ธุรกิจเคมีภัณฑ์และยา 7.9% และ (5) ธุรกิจการผลิตกระดาษและการพิมพ์ 7.2% อนึ่ง พื้นที่ที่ได้รับการลงทุน FDI สูงสุด 5 อันดับแรกคือ ชวาตะวันตก สุลาเวสีกลาง กรุงจาการ์ตา ชวาตะวันออก และมะลูกูเหนือ

2.5 ผู้ที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 ลำดับแรกในไตรมาสที่ 1/2567

ได้แก่ (1) สิงคโปร์ 4.7 พันล้าน USD (2) จีน (ฮ่องกง) 1.89 พันล้าน USD (3) จีน 1.87 พันล้าน USD (4) สหรัฐอเมริกา 1.1 พันล้าน USD และ (5) ญี่ปุ่น 1 ล้าน USD ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 13 ในไตรมาสนี้ โดยมีมูลค่าการลงทุน 141.5 ล้าน USD ใน 346 โครงการ

2.6 ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นสาขาที่มีศักยภาพขยายตัวสูงในอินโดนีเซีย

เนื่องจากชาวอินโดนีเซียมีความสนใจ/ความต้องการบริโภคที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในสาขาดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และตลาดยังมีช่องให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้ามาอีกได้ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าการลงทุนด้านอาหารและเครื่องดื่มในอินโดนีเซียจะขยายตัวอย่างน้อย 5% ในปีนี้