รายงานเศรษฐกิจ ปี 2567
สถิติเศรษฐกิจและการลงทุนในอินโดนีเซีย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 (เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2567)
1. เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาสที่ 3/2567
1.1 ขยายตัวร้อยละ 4.95 yoy (หรือร้อยละ 1.50 qoq)
โดย GDP (at current price) มีมูลค่า 5,638.9 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 357.28 พันล้าน USD) โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่
1.2 รัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ
เพื่อการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง มีการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ ๆ เช่น ภูมิภาคอเมริกาใต้ รวมทั้งเร่งรัดจัดทำความตกลงด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการใช้กรอบพหุภาคีในการผลักดันให้ปัญหาการส่งออกสินค้าสำคัญของอินโดนีเซียในตลาดโลกได้รับความสนใจ/มีผู้ร่วมแก้ไขปัญหา อาทิ น้ำมันปาล์ม ถ่านหิน แร่สำคัญ ทั้งนี้ ไทยยังคงเป็นคู่ค้ารายสำคัญที่ติดอันดับ 1 ใน 10 เสมอมาทั้งในด้านการนำเข้าและส่งออก ซึ่งไทยยังได้ดุลการค้าอยู่จากการส่งออกสินค้าเกษตร (น้ำตาล ข้าว) พลาสติก เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
1.3 ประชาชนเดินทางเพิ่มขึ้นทั้งทางบก โดยเฉพาะทางรถไฟ ทางน้ำ และทางอากาศ
และจำนวน นักท่องเที่ยวอินโดนีเซียและนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสนี้ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 22.84 และร้อยละ 18.23 ตามลำดับ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการส่งเสริมอุตสาหกรรม MICE อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า บัตรโดยสารเครื่องบินในประเทศยังมีราคาสูงอยู่จากภาษีต่าง ๆ และการจัดงานต่าง ๆ ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับผู้เข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ บาหลี สุราบายา จาการ์ตา และเมดาน
1.4 อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการผลักดันและส่งเสริมการลงทุน
โดยรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำและการแปรรูปอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้ การลงทุนมีมูลค่า 431.48 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 27.29 พันล้าน USD) ทำให้มูลค่าการลงทุนรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1,261 ล้านล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 YoY ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนที่กำหนดไว้ตามแผนยุทธศาสตร์ (1,239.3 ล้านล้านรูเปียห์) โดยสาขาการลงทุนที่สำคัญ คือ การขนส่งคมนาคม/โกดังสินค้า/สารสนเทศ อุตสาหกรรมการแปรรูปเหล็ก เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์และยา และอุตสาหกรรมอาหาร อนึ่ง ไทยมีมูลค่าการลงทุนในไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 61.4 ล้าน USD และเป็นผู้ลงทุนลำดับที่ 21 ของไตรมาส
1.5 การส่งเสริมนโยบายรักษาและส่งเสริมการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย (อัตราส่วนร้อยละ 53.08) เช่น การควบคุมราคาอาหารไม่ให้ผันผวนมากเกินไป การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ
2. พัฒนาการเศรษฐกิจสาขาสำคัญในไตรมาส 3/2567
2.1 รถยนต์ EV
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 อดีตประธานาธิบดี โจโกวีฯ ได้เปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถ EV แห่งแรกที่ร่วมทุนกับ Hyundai Motor Group และ LG Energy Solutions ที่เมือง Karawang จ. ชวาตะวันตก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดีลมูลค่า 9.8 พันล้าน USD ที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกันเมื่อปี 2563 โดยเป็นโรงงาน ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังผลิต 10 GWh ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจปลายน้ำ และการมุ่งเป้าที่จะสร้างให้อินโดนีเซียเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดรถ EV และในขณะเดียวกันอินโดนีเซียก็ พยายามเร่งสร้าง EV ecosystem ภายในประเทศ โดยร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2567 การไฟฟ้าอินโดนีเซีย (PT PLN (Persero)) ได้สร้างจุดชาร์จแบตเตอรี่รถ EV สาธารณะ 2,015 แห่งทั่วประเทศ และจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ EV (EV battery exchange station) 2,182 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมือถือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถ EV
2.2 ถ่านหิน
อินโดนีเซียพยายามเพิ่มมูลค่าให้ถ่านหิน เช่น การผลิตถ่านอัดแท่ง การผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากถ่านหิน ฯลฯ โดยได้ยื่นข้อเสนอแก่จีนในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของอินโดนีเซีย ทั้งนี้อินโดนีเซียจะตั้งหน่วยงานเพื่อจัดเก็บภาษีถ่านหินโดยเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างราคา ถ่านหินในตลาดโลกกับถ่านหินที่อินโดนีเซียกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตขายให้อินโดนีเซียในราคาที่ต่ำกว่าตลาดเพื่อรักษา ความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ (Domestic Market Obligation – DMO)
2.3 NRE
อินโดนีเซียจะเริ่มใช้น้ำมันไบโอดีเซล B40 ภายในประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2568 นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา B50 เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการเพิ่มสัดส่วนการใช้ NRE ยังอยู่ที่เพียงร้อยละ 13.93 (ครึ่งแรกของปี 2567) ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 23 ภายในปี 2568 ทั้งนี้ อินโดนีเซียอยู่ระหว่างเร่งรัด การออกกฎหมาย New Energy-Renewable Energy ซึ่งจะรวมพลังงาน NRE 3 ประเภท ได้แก่ ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และพลังงานนิวเคลียร์ โดยในส่วนของพลังงานนิวเคลียร์ อินโดนีเซียอยู่ระหว่างการวางแผนการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ 2 แห่งที่ จ. Central Bangka โดยร่วมทุนกับสหรัฐฯ
2.4 อุตสาหกรรมปลายน้ำ
เป็นสาขาที่ได้รับการลงทุนและความสนใจจากนักลงทุนสูงจากนโยบายของ อินโดนีเซียซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้ประกอบการภายในประเทศ ในสาขาต่าง ๆ โดยปัจจุบัน อินโดนีเซียสามารถเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์จากพลาสติกสำหรับตลาดภายในประเทศ ได้มากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันด้านราคา และการระบายสินค้าออกไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยหลายรายยังคงเห็นศักยภาพของตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกระดับ niche หรือการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา
เมื่อเดือนกันยายน 2567 อดีตประธานาธิบดี โจโกวีฯ ได้เปิดโครงการอุตสาหกรรมปลายน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ (1) โรงงานถลุงแร่ทองแดงของ PT Amman Mineral Internasional Tbk ที่ จ.นูซาเติงการาตะวันตก (2) โรงงานถลุงแร่ของ PT Freeport Indonesia ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ Gresik จ. ชวาตะวันออก และ (3) โรงงานผลิตอลูมิเนียมจากบอกไซต์ ที่ จ. กาลิมันตันตะวันตก รวมทั้งประกาศเร่งรัดการส่งเสริมเศรษฐกิจปลายน้ำไปยังสินค้าอื่น ๆ ในด้านเกษตร ประมง และป่าไม้ด้วย
2.5 ความมั่นคงทางอาการ/เกษตร
ประธานาธิบดี ปราโบโวฯ ประกาศย้ายพื้นที่ดำเนินโครงการ National Food Estate จากกาลิมันตัน ไปยัง Merauke Regency จ. ปาปัวใต้ เนื่องจากประสบปัญหาและอุปสรรคมากในพื้นที่เดิม ทำให้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และยังขาดวิทยาศาสตร์การเกษตรที่ดี ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และสภาพอากาศ/ดินของ อินโดนีเซียที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินโครงการฯ ทำให้ อินโดนีเซียยังต้องนำเข้าอาหารหลายประเภทจาก ตปท. เช่น ข้าว เนื้อ น้ำตาล หัวหอม ถั่วเหลือง ฯลฯ ทั้งนี้ อินโดนีเซียพยายามเพิ่มศักยภาพในการปลูกข้าวใน food estate ที่ Merauke จ. ปาปัวใต้ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะขยายพื้นที่ของ food estate ดังกล่าวให้ได้ถึง 40,000 เฮกตาร์ และอาจยกระดับเป็น SEZ เพื่อดึงดูดการลงทุนสาขาเกษตร และเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งหากโครงการดังกล่าวดำเนินไปได้ด้วยดี ก็จะใช้ในการสนับสนุนนโยบาย Free Lunch Program ของอินโดนีเซียด้วย
2.6 การท่องเที่ยว
ระหว่างเดือนมกราคม - กันยายน 2567 อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10,372,114 คน โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวไทย 90,667 คน อนึ่ง หนึ่งในปัญหาสำคัญที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งแก้ไข คือ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ ที่มีราคาสูงที่สุดในอาเซียนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพจากภาษีบัตรโดยสารและภาษีเชื้อเพลิง โดยหนึ่งในแนวทางแก้ไขที่กระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซียเสนอคือการยกเว้นการจัดเก็บภาษีบัตรโดยสาร เพื่อให้ราคาการเดินทางโดยเครื่องบินอยู่ในระดับใกล้เคียงกับขนส่งมวลชนประเภทอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางใด