รายงานเศรษฐกิจ ปี 2556

รายงานเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไตรมาส 3/2556

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

1.1 เศรษฐกิจไตรมาส 2/2556 ขยายตัวร้อยละ 5.8 ลดลงจากร้อยละ 6.02 ในไตรมาส 1/2556

และธนาคารกลางคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ ไตรมาส 3/2556 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประมาณการณ์ไว้มาก รัฐบาลและธนาคารกลางจึงเริ่มปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 ลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.8-5.9 จากเดิมที่เคยประมาณไว้ประมาณร้อยละ 6.3

อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยเดือน ก.ค. อยู่ที่ร้อยละ 8.61 เดือน ส.ค. อยู่ที่ร้อยละ 8.79 ก่อนจะปรับลดลงในเดือน ก.ย. อยู่ที่ร้อยละ 8.4 ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อไตรมาส 3/2556 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 8.6 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อไตรมาส 2/2556 ที่อยู่ประมาณร้อยละ 5 ธนาคารกลางคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของปี 2556 น่าจะสูงถึงร้อยละ 9-9.8 ก่อนจะปรับตัวลงตามเกณฑ์ที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2557 ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อธนาคารกลางจึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ในไตรมาสนี้ ครั้งแรกในเดือน ส.ค. 2556 ปรับเพิ่มจากร้อยละ 6.5 เป็นร้อยละ 7 และปรับเพิ่มอีกในเดือน ก.ย. 2556 เป็นร้อยละ 7.25 รวมทั้งปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบข้ามคืนกับธนาคารกลาง (รู้จักกันในนาม FASBI) เป็นร้อยละ 4.75 เพื่อแก้ไขปัญหาความผันผวนของค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 3/2556 เฉลี่ยอยู่ที่ 10,652 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออ่อนค่าลงร้อยละ 8.18เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2556 แต่หากมองภาพทั้งปีจะพบว่าอ่อนค่าลงไปถึงร้อยละ 17 ทั้งนี้ ธนาคารกลางได้พยายามออกมาตรการหลายประการเพื่อรักษาเสถียรภาพ รวมทั้งแทรกแซงค่าเงินแต่เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังอ่อนแอ การแทรกแซงจึงไม่เกิดผล แต่กลับส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือเพียง 92.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. ก่อนจะปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 95.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เพียงพอสำหรับการชำระค่าสินค้า บริการและหนี้ได้ประมาณ 5.2 เดือน) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ก.พ. 2011 ที่ระดับเงินทุนสำรองลดต่ำกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

1.2 ปริมาณการค้าในช่วง ม.ค.-ส.ค. 2556 อินโดนีเซียขาดดุลการค้าประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้ดุลการค้า 473.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

(ลดลงถึงร้อยละ 1,269) มูลค่าการส่งออกรวม 119.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 6.12) และมูลค่านำเข้ารวม 124.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 1.39) ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อว่า ปัญหาการขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะการลดอุดหนุนน้ำมันน่าจะทำให้ปริมาณความต้องการนำเข้าน้ำมันลดลง

1.3 การลงทุน - BKPM (Indonesia Investment Coordinating Board) ประกาศตัวเลขการลงทุนในไตรมาส 3/2556 ว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 (YoY) หรือประมาณ 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

แม้ว่าจะมีการไหลออกของเงินทุนจำนวนมากในช่วงดังกล่าวก็ตาม โดยในจำนวนนี้การลงทุนในประเทศ (DDI) ขยายตัวร้อยละ 33 แต่ FDI ขยายตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 18.4 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่ตำที่สุดในรอบ 3 ปี ดังนั้น จึงคาดว่าปริมาณการลงทุนในปีนี้น่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ที่ประมาณ 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ BKPM คาดว่าในปี 2557 อซ. น่าจะได้รับปริมาณการลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีนี้ถึงร้อยละ 15 (ประมาณ 450 ล้านล้านรูเปียห์)

2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงไตรมาส 3/2556

2.1 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2556 รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดการนำเข้าและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูง อาทิ การลดภาษีให้กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว เพิ่มอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ ตลอดจนลดกระบวนการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลยังตระหนักถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และค่าเงินรูเปียห์ที่ผันผวนมาก จึงได้พยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา อาทิ ข้อเสนอการปรับแก้ negative list โดยอาจเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้เพิ่มขึ้นในธุรกิจอีกอย่างน้อย 6 จาก 20 รายการที่ห้ามนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ / การให้ tax break and tax holiday กับธุรกิจการผลิตที่สำคัญ เช่น โลหะหนัก กลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี อุตสาหการ พลังงานทดแทน และสื่อสาร / การขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์นำเข้า (CBU) และอาจรวมถึงโทรศัพท์มือถือเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเพิ่มรายได้ / การขยายกำหนดระยะเวลาการห้ามส่งออกสินแร่ที่เดิมกำหนดไว้ว่าภายในปี 2014 จะห้ามส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป เป็นผ่อนผันให้ส่งออกได้หากมีแผนว่าจะตั้ง smelter / การลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากเดิมจะต้องผ่านกระบวนการประมาณ 69 ขั้นตอน เหลือประมาณ 8 ขั้นตอน

นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังประกาศหลายมาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาการผันผวนของค่าเงิน เช่น การขยายระยะเวลาฝากเงินกับธนาคารกลางของธนาคารพาณิชย์จากเดิม 7, 14, 30 วัน ไปเป็น ระหว่าง 1 วัน ถึง 12 เดือน และระมัดระวังไม่ให้งบประมาณขาดดุลเกิน ร้อยละ 2.38 ของ GDP นอกจากนี้ ยังลงนามใน bilateral swap agreement กับ จีน (15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เกาหลี (10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) รวม 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประกาศขึ้นสัดส่วนการดำรงเงินสำรองกับธนาคารกลาง (secondary reserves requirement : GWM) จากเดิมร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 4 และตั้งแต่ ตค. จะลดขนาดสัดส่วนหนี้ต่อยอดเงินฝาก (loan to deposit LDR) จากเดิมกำหนดไว้ที่ร้อยละ 100 เหลือร้อยละ 92 ซึ่งหากธนาคารใดทำไม่ได้จะถูกลงโทษเพื่อให้ธนาคารใช้ความรอบคอบระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

2.2 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ – สมาคมนายจ้างของอินโดนีเซีย (APINDO) และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (KADIN) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดเกณฑ์การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

เพื่อป้องกันการเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างตามอำเภอใจ โดยใช้สูตรการคำนวณการขึ้นค่าจ้างในอัตราสูงสุดไม่มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ+ร้อยละ 10 ในขณะที่ในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูง ใช้สูตรคำนวณ คือ อัตราเงินเฟ้อ+ร้อยละ 5 ทั้งนี้ สูตรการคำนวณดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเดินขบวนเรียกร้องของกลุ่มสหภาพแรงงานให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของปี 2557 ในอัตราร้อยละ 68 และล่าสุดเมื่อ 17 ต.ค. 2556 กลุ่มสหภาพแรงงานเดินขบวนกลางกรุงจาการ์ตาเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2557 ในอัตราร้อยละ 50 (ซึ่งอาจจะปรับขึ้นจากเดิมที่ประมาณเดือนละ 2.2 ล้านรูเปียห์ (172 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นประมาณ 3.7 ล้านรูเปียห์) อย่างไรก็ตาม ยังมีนายจ้างจำนวนมากที่ใช้การจ้างนอกระบบที่ให้ค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้าง เช่น ค่าจ้างรายวันของคนงานก่อสร้างอยู่ที่วันละประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าจ้างคนทำงานบ้านเฉลี่ยเดือนละประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการเรียกร้องขึ้นค่าจ้างแรงงานติดต่อกันของสหภาพแรงแรงรายงานเป็นกรณีที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ไม่เฉพาะนักลงทุนต่างชาติเท่านั้นที่เห็นว่า ค่าจ้างแรงงานในอินโดนีเซียเริ่ม “ไม่ถูก” อีกต่อไป นักลงทุนท้องถิ่นเองก็เริ่มเห็นว่าสูงเกินไปและไม่สามารถจ่ายได้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทหลายแห่งของเกาหลีและอินเดียทะยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ทั้งนี้ งานวิจัยของ Center for Strategic and Internatinoal Studies ศึกษาไว้น่าสนใจว่า ระหว่างปี 2000-2011 ค่าจ้างแรงงานในอินโดนีเซียขึ้นในอัตราส่วนเฉลี่ยร้อยละ 5.5 แต่ความสามารถในการผลิต (productivity) เพิ่มในอัตราส่วนเพียง ร้อยละ 3.4 แต่ในช่วงปี 2010-2013 กลับพุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 30 และอัตราความสามารถในด้านการผลิตก็ไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในขณะที่จีน ค่าจ้างแรงงานเพิ่ม ร้อยละ 7.2 แต่ความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 10.1

3. ข้อสังเกต

3.1 ไตรมาสนี้เป็นไตรมาสแรกที่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจส่งสัญญาณชัดเจนถึงการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจ

ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังไม่แข็งแรง ในช่วงที่ผ่านมาแม้โครงสร้างไม่แข็งแรง แต่เพราะนักลงทุนต่างชาติยังเห็นความเป็นตลาดที่มีศักยภาพและบรรยากาศยังอำนวยจึงยังคงฉีดเงินลงทุนเข้าระบบตัวเลขเศรษฐกิจจึงขยายตัวได้ดี แต่ในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 4/2555-2/2556 รัฐบาลประกาศหลายมาตรการที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มเห็นว่า ไม่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะในภาคเหมืองแร่ และน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงทำให้การลงทุนชะลอการขยายตัว ตัวเลขการขยายตัวของ FDI ไตรมาส 2/2556 ขยายตัวน้อยสุดนับตั้งแต่ปี 2010 และทำให้การผลิตและส่งออกในอุตสาหกรรมเหมืองแร่หดตัวร้อยละ 1.2 ทั้งๆ ที่เดิมเป็นสาขาที่ FDI ไหลเข้ามากที่สุด แม้รัฐบาลจะเริ่มตระหนักและพยายามแก้ไขโดยพยายามออกมาตรการดึงดูดนักลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น แก้ไข negative list / จะผ่อนผันการห้ามส่งออกสินแร่ที่เดิมหากไม่แปรรูปจะห้ามส่งออกภายในปี 2014 อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ เชื่อว่านักลงทุนจะระมัดระวังมากขึ้นจนกระทั่งจะเริ่มวางใจว่ารัฐบาลจะดำเนินมาตรการผ่อนปรนจริงถึงจะเริ่มเพิ่มการลงทุนใหม่ ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่ออินโดนีเซียและอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง ปธน. ในปี 2014 ได้

3.2 อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก (เกินกว่าร้อยละ 8)

แม้เป็นผลมาจากการลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น เพราะรัฐบาลใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าอาหารประเภทเกษตรเมืองร้อน จึงทำให้สินค้าสำคัญที่อินโดนีเซียแม้จะผลิตได้แต่ไม่พอบริโภค เช่น ถั่วเหลือง เนื้อวัว หอมแดง พริก ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนรัฐบาลต้องแก้ไขโดยปรับเปลี่ยนจากการใช้มาตรการโควต้ามาเป็นมาตรการกลไกราคา โดยยกเลิกการควบคุมการนำเข้า พริก หอมแดง เนื้อวัวและยินยอมให้ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าเท่าใดก็ได้ ตราบเท่าที่ยังรักษาราคาไว้ในราคาที่รัฐบาลกำหนดได้ สะท้อนให้เห็นความไม่ประสานกันในรัฐบาลเพราะแม้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการค้าจะเห็นว่า สินค้าอาจขาดแคลนต้องนำเข้า แต่กระทรวงเกษตรกลับไม่ยอมรับว่าขาดแคลนและยืนยันว่าเพียงพอ จนทำให้เกิดปัญหาราคาพุ่งสูงขึ้น จนกระทั่ง ปธน. ต้องออกมาตำหนิรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและสั่งการให้รีบแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกรณีพริกที่ ก. การค้าขอความร่วมมือจากผู้นำเข้าให้ช่วยเหลือ และผู้นำเข้าได้เคยเกริ่นว่าไทยอาจให้ความช่วยเหลือเรื่องพริก โดยอาจหวังผลทางการเมืองหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ แม้ธนาคารกลางจะพยายามใช้นโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) เข้าช่วย แต่ก็น่าจะเป็นการยากที่จะลดอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่ภาวะปรกติที่ตั้งเป้าไว้ คือ ร้อยละ 4.5 ภายในปี 2557 หากรัฐบาลไม่ปรับนโยบายอาหารให้มีการแข่งขันได้มากขึ้น รวมทั้ง เริ่มศึกษาที่จะมีกฎหมายควบคุมราคาสินค้าจำเป็น

3.3 การขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลการชำระเงินยังไม่มีแนวโน้มลดลง

เพราะในภาพรวมเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และค่าเงินผันผวนมาก ผู้ประกอบการจะระมัดระวังในการประกอบธุรกิจ ประกอบกับยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะในตลาดเดิม (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป) ลดลง ในขณะที่ต้นทุนในประเทศ เช่น ค่าแรงกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องชะลอการขยายตัว สะท้อนให้เห็นจากการนำเข้าสินค้าประเภททุนเริ่มลดลง และดัชนีภาคการผลิตชะลอตัว โดยเดือน ก.ค. อยู่ที่ 50.7 และเดือน ส.ค. เหลือเพียง 48.5 ซึ่งเมื่อใดที่ดัชนีดังกล่าวให้ค่าต่ำกว่าร้อยละ 50 หมายถึงการผลิตเริ่มชะลอตัว ทั้งนี้ แม้การชะลอการนำเข้าสินค้าประเภททุนจะช่วยลดการดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด แต่การไม่มีนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจก็ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออกยิ่งลดลง เห็นได้จากยอดส่งออกหลายสาขาขยายตัวลดลง เช่น เหมืองแร่ และการผลิต ดังนั้น แม้การนำเข้าจะลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง และเครื่องจักร แต่ในภาพรวมยังคงขาดดุลการค้า โดยอินโดนีเซียขาดดุลการค้า กับจีนมากที่สุด 4.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกับไทยเป็นอันดับ 2 ที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามพยายามส่งเสริมตลาดใหม่ที่น่าจะแข่งขันได้มากขึ้น เช่น แอฟริกา ปากีสถาน อาเซียน ลาตินอเมริกา ฯลฯ แต่ยังได้รับความสนใจจากภาคเอกชนน้อย เพราะต่างกลัวความเสี่ยงในตลาดดังกล่าว และเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ในไตรมาสที่ผ่านมาค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงอย่างมาก แต่การส่งออกก็ไม่ได้ดีขึ้น ตรงกันข้ามกลับเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าประเภททุนให้มีต้นทุนสูงขึ้นจนต้องชะลอการนำเข้าและลดการผลิตในที่สุด อย่างไรก็ดี ธุรกิจบริการของอินโดนีเซียในไตรมาสที่ผ่านมายังไปได้ดี โดยภาคขนส่งและสื่อสารเติบโตมากที่สุด ร้อยละ 11.5 และภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์เติบโตร้อยละ 8.07 แต่ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียก็ประสบภาวะเงินไหลออกจำนวนมาก และถูกจัดเป็น the worst performer in the region โดยประมาณว่า มีเงินไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมาถึงประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

3.4 การลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินไม่ประสบผลและทำให้อินโดนีเซียสิ้นเปลืองเงินสำรองไปโดยเปล่าประโยชน์

เพราะค่าเงินอ่อนค่ามาจากโครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียไม่เข้มแข็งสะท้อนให้เห็นความจริงในไตรมาส 3/2556 กล่าวคือ เงินสำรองดังกล่าวเมื่อลดลงแล้วไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีก แต่กลับหลุดเกณฑ์ปลอดภัยเชิงจิตวิทยา (psychological threshold) ที่ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งจึงไม่สามารถหารายได้เป็นเงินตราต่างประเทศกลับเข้ามา เช่นจากการส่งออก หรือจากการลงทุน ประกอบกับไตรมาส 2/2556 FDI กลับชะลอตัวลดลง นอกจากนี้ แม้การท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในช่องทางได้เงินตราต่างประเทศ แต่รัฐบาลก็ยังทำได้ไม่มาก เพราะยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในอินโดนีเซียยังไม่สูงมากนัก (โดยเฉพาะหากเทียบกับไทย) โดย ปี 2013 อินโดนีเซียคาดว่าจะมียอดนักเที่ยวประมาณ 8.6 ล้านคน ในขณะที่ไทยประมาณ 22 ล้านคน และการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวในอินโดนีเซียยังต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย รายงานศึกษาของ Visa Card ระบุว่า นักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 2,930 ดอลลาร์สหรัฐฯ / Trip แต่นักท่องเที่ยวในอินโดนีเซียจับจ่ายเพียง 1,637 ดอลลาร์สหรัฐฯ / Trip จึงสะท้อนให้เห็นด้วยว่า อินโดนีเซียจะได้รายได้จากการท่องเที่ยวเพียงประมาณครึ่งหนึ่งจากค่าเฉลี่ยรายได้ที่ประเทศต่างๆ จะได้รับจากจับจ่ายของนักท่องเที่ยว

3.5 ในภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียน่าจะชะลอตัวต่อในไตรมาสต่อไป (4/2556)

แต่หากรัฐบาลสามารถเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ และตัวเลขการลงทุนกลับปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้ง สามารถประกาศใช้มาตรการต่างๆ (โดยเฉพาะมาตรการการค้าเสรี) ที่จะช่วยลดราคาสินค้าอุปโภค บริโภคในท้องตลอด เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อลงได้ ก็อาจจะช่วยให้การลงทุนต่างชาติและการบริโภคภาคครัวเรือนสามารถกลับมาเป็นแรงขับสำคัญให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นให้ได้ตามเป้าหมายที่ได้เคยวางไว้ที่อย่างน้อยร้อยละ 6+ ต่อปี


29 ตุลาคม 2556
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา