รายงานเศรษฐกิจ ปี 2556
รายงานเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไตรมาส 4/2556
ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2013 และคาดการณ์ปี 2014
1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
1.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2556 ขยายตัวลดลงเป็นลำดับตลอดทุกไตรมาส
กล่าวคือ ขยายตัวที่ร้อยละ 6.02 / 5.8 / 5.62 ในไตรมาสที่ 1-3 ตามลำดับ และในไตรมาส 4/2556 ก. คลังคาดว่าจะขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวน้อยที่สุดในรอบ 4 ปี จึงทำให้โดยรวม ปี 2556 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.7 สาเหตุสำคัญมาจาก
- การชะลอไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการประกาศใช้มาตรการที่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มองว่าเป็นมาตรการที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การลงทุนของอินโดนีเซียที่เงินทุนต่างชาติขยายตัวน้อยกว่าการลงทุนภายใน
- การขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการชำระเงินอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุน
- อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากสาเหตุมาจากการลดการอุดหนุนน้ำมันและการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร และ
- การอ่อนตัวของค่าเงินรูเปียห์เนื่องจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน และการประกาศยกเลิก Quantitative Easing ของสหรัฐฯ
1.2 การค้าระหว่างประเทศยังไม่สามารถเป็นกลจักรสำคัญช่วยทำรายได้ให้กับรัฐ ในรอบปีที่ผ่านมา (สถิติ ม.ค.-พ.ย. 2556) อินโดนีเซียยังคงขาดดุลการค้าประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แม้ว่าในไตรมาส 4/2556 การค้าจะปรับตัวดีขึ้น (เดือน ต.ค. และ พ.ย. ได้ดุลการค้า 24.3 และ 776.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ) ซึ่งในช่วงที่ประกาศการได้ดุลการค้าก็จะทำให้สถานะค่าเงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เพราะนักลงทุนคาดหวังว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง 1 ทั้งนี้ ธนาคารกลางคาดการณ์ว่าไตรมาส 4/2556 น่าจะขาดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ของ GDP ซึ่งจะทำให้ตลอดทั้งปีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมอยู่ที่ประมาณ 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่า 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งธนาคารกลางเคยประมาณการณ์ไว้ และน่าจะทำให้สถานะการขาดดุลการชำระเงินดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/2556 ที่ขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจเปลี่ยนการขาดดุลการชำระเงินมาเป็นเกินดุลได้ประมาณ 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 4/2556
1.3 ค่าเงินรูเปียห์ในปี 2556 ถือว่าอ่อนค่าลงอย่างมาก โดยตลอดทั้งปี ปรับลดค่าลงไปถึงประมาณร้อยละ 25
ถือเป็น the worst performing currency ในเอเชีย อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อสิ้นปี 2556 อยู่ที่อยู่ที่ประมาณ 12,250 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี สาเหตุการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินอย่างต่ำเนื่อง ซึ่งในช่วงแรกๆ ธนาคารกลางยังพยายามเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนของรูเปียห์ในอยู่เหนือ 10,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียไม่เข้มแข็งพอ จึงขาดปัจจัยพื้นฐานหนุน ทำให้แม้ว่าธนาคารกลางจะพยายามแทรกแซงแต่ก็ไม่สามารถชะลอการเทขายของนักลงทุนค่าเงินรูเปียห์จึงหลุดแนวต้านเชิงจิตวิทยา (psychological threshold) ที่ 10,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ลงไปเรื่อยๆ และไปหยุดที่ประมาณ 12,100 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 2/2556 ธนาคารกลางจึงประกาศยกเลิกการแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ และปล่อยให้เงินรูเปียห์หาจุดสมดุลใหม่ ซึ่งธนาคารกลางและรัฐบาลกลางคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 11,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งผลจากนโยบายการหยุดแทรกแซงของธนาคารกลางทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งลดลงเป็นลำดับจนหลุดเกณฑ์ปลอดภัยเชิงจิตวิทยาที่ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้โดยสิ้นปี 2556 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ประมาณ 99.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 2 ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดเห็นที่ สอท. เคยตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า การแทรกแซงจะไม่เป็นผลเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียไม่แข็งแกร่งเพียงพอจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งแทน
1.4 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีถือว่า ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการลดการอุดหนุนน้ำมันและราคาอาหารที่แพงขึ้น
แต่รัฐบาลก็สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวโดยในรอบปีที่ผ่านมาธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 5 ครั้ง จากร้อยละ 5.75 มาเป็นร้อยละ 7.5 ในปัจจุบัน รวมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบข้ามคืนกับธนาคารกลาง (FASBI) เป็นระยะๆ จนเป็นร้อยละ 4.75 จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ประมาณ 8.38 ต่ำกว่าที่ธนาคารกลางเคยประมาณการณ์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 9 3 และรัฐบาลคาดการณ์ว่า ในปีนี้น่าจะสามารถกลับสู่ภาวะปรกติได้ที่ประมาณ ร้อยละ 4.5-5
การลงทุนในประเทศในปี 2556 มีมูลค่าทั้งสิ้น 313.2 ล้านล้านรูเปียห์ เกินเป้าที่วางไว้ที่ 283.5 ล้านล้านรูเปียห์ โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ การลงทุนต่างชาติขยายตัวประมาณร้อยละ 22.4 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวลดลงในรอบ 3 ปี เพราะเดิมจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 30 แต่ในทางกลับกันการลงทุนของนักลงทุนในประเทศ กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 33 ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เช่นกัน จึงทำให้ตัวเลขการลงทุนโดยรวมในปี 2556 เกินเป้าที่ BMPM คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ จนสิ้นสุดไตรมาส 3/2556 การลงทุนจากต่างชาติคิดเป็นประมาณ 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ตลอดทั้งปี น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30-32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในปี 2557 BKPM คาดการณ์ว่า เงินลงทุนจากต่างประเทศจะชะลอตัวลง และอาจตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับปี 2556
การท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาเยือนอินโดนีเซียประมาณ 8.6 ล้านคนต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 9 ล้านคน โดยคิดรายได้ประมาณ 9.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.17 จากปีก่อน
2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
2.1 นโยบายการเงินแบบตึงตัว
ตลอดปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งขยายตัวลดลงและส่งสัญญาณฟองสบู่ในบางสาขา และรับมือกับการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ โดย
- ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งจากร้อยละ 5.75 จนมาเป็นร้อยละ 7.5 นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการการเงินและการคลังหลายๆ มาตรการเช่น
- การปรับเพิ่มเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์เป็นร้อยละ 8
- การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการให้สินเชื่อต่อวงเงินฝาก (loan to deposit) จากเดิมในอัตราส่วนร้อยละ 100 เป็นร้อยละ 92 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง หลังจากมีสัญญาหนี้เสีย (NPL) ในภาคธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น
- การควบคุมการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยลดอัตราส่วนวงเงินกู้ต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ (loan to value) เหลือร้อยละ 60 สำหรับอสังหาริมทรัพย์ ขนาด 70 ตร.ม. เป็นต้นไป และร้อยละ 50 หากอสังหาฯ นั้นไม่ใช่บ้านหลังแรก เพื่อป้องกันการเกิดฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ
- การออกตราสารเชิญชวนให้ธนาคารพาณิชย์นำฝากดอลลาร์สหรัฐฯ กับธนาคารกลางในระยะที่ยาวขึ้น รวมทั้ง
- บังคับให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ นำเงินกลับมาฝากกับธนาคารในประเทศเพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน
- ประกาศให้ quote อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ จากสถาบันกลางในประเทศเพียงแห่งเดียว และ
- ลงนามใน swap agreement กับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะมีเงินกองทุนช่วยเหลือหากประสบวิกฤต
ซึ่งมาตรการต่างๆ บางมาตรการประสบความสำเร็จ เช่น สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงจนเกิดวิกฤต แต่บางมาตรการก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น การอ่อนค่าของรูเปียห์ ดังนั้น ช่วงปลายปี ธนาคารกลางจึงเปลี่ยนมาใช้นโยบายค่าเงินอ่อนแทน และปล่อยให้เงินรูเปียห์ปรับค่าตามภาวะตลาด และให้อ่อนค่าเพราะน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออก นอกจากนี้ ยังพยายามลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นพื้นฐานหนึ่งที่มีผลเชิงจิตวิทยาให้นักลงทุนทิ้งเงินสกุลรูเปียห์ โดยจำกัดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยผ่านการเพิ่มภาษีหัก ณ ที่จ่ายสินค้านำเข้าจากเดิมร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 7.5 อย่างไรก็ตาม แม้จะลดยอดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้
2.2 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ – หลังจากที่อินโดนีเซียได้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากถึงร้อยละ 44 (2.2 ล้านรูเปียห์)
ในต้นปี 2556 ในปี 2557 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงจาการ์ตาจะปรับเพิ่มประมาณร้อยละ 10 คือ อยู่ที่เดือนละ 2.44 ล้านรูเปียห์สอดคล้องกับประกาศประธานาธิบดีที่กำหนดว่า การขึ้นค่าจ้างจะต้องไม่ให้เกินอัตราเงินเฟ้อ+ร้อยละ 10 สำหรับอุตสาหกรรรมทั่วไป และหากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน (labour-intensive industry) ให้ขึ้นได้ไม่เกินอัตราเงินเฟ้อ+ร้อยละ 5 อย่างไรก็ดี ในหลายพื้นที่มีการประกาศขึ้นค่าจ้างในสัดส่วนที่สูง เช่น Bekasi ปรับขึ้นร้อยละ 40 (จาก 2.1 ล้านรูเปียห์ เป็น 2.9 ล้านรูเปียห์) ซึ่งการปรับเพิ่มในสัดส่วนดังกล่าวในปี 2557 สหภาพแรงงานยังไม่พอใจนัก แม้ปัจจุบันการเรียกร้องจะลดลง แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ การปรับเพิ่มค่าแรงอย่างต่อเนื่องของอินโดนีเซียส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นและทำให้หลายคนมองว่า อินโดนีเซียไม่ใช่แหล่งของแรงงานราคาถูกอีกต่อไป เช่นเดียวกันราคาค่าเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมใน Bekasi หรือ Karawang คิดค่าเช่า 191 ดอลลาร์สหรัฐฯ /ตรม. ในขณะที่ในไทยอยู่ที่ 119 ดอลลาร์สหรัฐฯ /ตรม. และมะนิลาอยู่ที่ประมาณ 52-102 ดอลลาร์สหรัฐฯ / ตรม.
2.3 การปรับขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุนและก๊าซหุงต้ม – เมื่อเดือน มิ.ย. 2556 รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุน ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินหลังจากไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2551
เพื่อลดภาระงบประมาณ และลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ เมื่อสิ้นปี 2556 บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pertamina ได้ประกาศขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) จากเดิมราคา 5,850 รูเปียห์/กก. เป็น 9,350 รูเปียห์/กก. หรือประมาณร้อยละ 60 สำหรับถังก๊าซขนาด 12 กก. ซึ่งไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ก่อนที่จะยอมปรับลดราคาลงเหลือ 6,850 รูเปียห์/กก. หลังจาก ปธน. ขอให้ทบทวนการขึ้นราคาดังกล่าว นอกจากนี้ อัตราค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มจะปรับขึ้น แต่ได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากภาคเอกชน โดยในปีที่ผ่านมาอัตราค่าไฟฟ้าได้ปรับขึ้นไปแล้วถึง 4 ครั้ง
2.4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ – เนื่องจากรัฐบาลโดยเฉพาะ รมว.กค. (นาย Chatib Basri) ตระหนักดีกว่า การลงทุนจากต่างประเทศเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
จึงได้พยายามสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุนท่ามกลางกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะในภาคเหมืองแร่ที่ประสบปัญหาการลงทุนชะลอตัว โดยรัฐบาลประกาศจะลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเหมืองแร่ และ oil and gas ลง จากเดิม 49 ขั้นตอนเหลือ 8 กลุ่มขั้นตอน นอกจากนี้ ยังประกาศทบทวนอัตราส่วนการถือครองกิจการของคนต่างชาติ (Negative Investments List) ในสาขาสำคัญ อาทิ โรงไฟฟ้า การบริหารจัดการท่าอากาศยาน ท่าเรือ และลดภาษีให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูง อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวถูกคัดค้านจากกระแสชาตินิยมในประเทศ จึงทำให้บางสาขา เช่น การบริหารจัดการสนามบินและท่าเรือ ถูกปรับลดอัตราส่วนการถือครองกิจการเหลือเพียงร้อยละ 49 จากเดิมที่เสนอไว้ที่ร้อยละ 99 จึงอาจไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากนัก เนื่องจากไม่สามารถเข้ามาบริหารกิจการได้เต็มที่ ทั้งนี้ การพยายามสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะสาขาเหมืองแร่ ยังทำได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะปัญหาค้างคาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายเหมืองแร่ ปี 2009 ที่กำหนดห้ามส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการออกนอกประเทศ ซึ่งกำหนดเส้นตายห้ามส่งออกคือ 12 ม.ค. นี้ หากรัฐบาลยังหาข้อสรุปกับเอกชนไม่ได้ สินแร่ต่างๆ เช่น นิกเกิล บอกไซต์ ทองแดง ทองคำ ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอินโดนีเซียก็จะถูกห้ามส่งออก ซึ่งจะกระทบรายได้ของอินโดนีเซียประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของ GDP
2.5 มาตรจำกัดการนำเข้าพืชสวน – ในช่วงครึ่งปีแรก รัฐบาลห้ามนำเข้าพืชสวนจากต่างประเทศจำนวน 13 รายการ รวมทั้งจำกัดท่าเรือที่สินค้าเข้า
ส่งผลให้พืชสวนสำคัญ โดยเฉพาะกระเทียม หองแดง และพริก ขาดแคลนและราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 5-6 เท่า เป็นเหตุให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ต่อมารัฐบาลจึงผ่อนคลายโดยเปลี่ยนมาจากการใช้โควต้าควบคุมเป็นใช้กลไกราคา แต่ยังมีนัยการใช้โควต้าอยู่ คือ ควบคุมผ่านการออกใบอนุญาตนำเข้าแก่เอกชนโดยให้นำเข้าได้ตามที่รัฐบาลสั่งการจนกระทั่งราคาสินค้าอยู่ในระดับที่รัฐบาลเห็นเหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการค้าและ ก. เกษตรว่าด้วยการอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์พืชสวนจาก ตปท. ฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องยื่นคำร้องขอนำเข้าสินค้าพืชสวนล่วงหน้า 1 เดือน สำหรับโควตาการนำเข้ารอบครึ่งปีนั้นๆ ในขณะที่พริกและหอมแดงไม่มีการกำหนดโควตา สามารถยื่นขออนุญาตได้ตลอดเวลา หาก คกก. ตรวจสอบราคาผลิตภัณฑ์พืชสวนแจ้งว่าราคาในท้องตลาดสูงกว่าราคาอ้างอิง และอนุญาตให้นำเข้า
3. คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ปี 2557
ธนาคารกลางประเมินว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ปี 2557 น่าจะเติบโตประมาณ ร้อยละ 6 และการใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของ GDP ประมาณร้อยละ 0.1-0.2 สำหรับการส่งออก ก. การค้าคาดว่าน่าจะขยายตัวได้เล็กน้อยจากการฟื้นตัวของตลาดโลก โดยมีมูลค่าประมาณ 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 2556 แต่การนำเข้าน้ำมันดิบน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ค่าเงินรูเปียห์น่าจะยังคงปรับตัวอยู่ในระดับ 11,000 - 12,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เอกชนมองว่าเงินรูเปียห์อาจแข็งค่ากลับมาที่ระดับ 11,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะลดลงเหลือร้อยละ 5 ในช่วงปลายปี 2557 แต่จะยังคงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องในปี 2557 ด้านการลงทุน BKPM คาดการณ์ว่า ในปี 2557 การลงทุนทั่วไปในอินโดนีเซีย (รวมการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศ) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 390 ล้านล้านรูเปียห์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 ในขณะที่การท่องเที่ยว ก. ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ปรับลดเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวลงเหลือ 9.2 ล้านคน จากเดิม 10 ล้านคน เพราะปี 2556มีนักท่องเที่ยวเยือนอินโดนีเซียต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ อย่างไรก็ดี ก. ท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนมากขึ้นเป็น 1 ล้านคน จากการประกาศ Indonesia-China Tourism Years เมื่อเดือน พ.ย. 2556
4. ข้อคิดเห็น
4.1 เศรษฐกิจปี 2557 น่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.4-5.6
สาเหตุมาจากในปีนี้ หลายฝ่าย รวมทั้ง BKPM เห็นว่า จะเป็นปีที่การลงทุนจากต่างชาติอาจชะลอลง นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังต้องการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อให้ไม่เกินร้อยละ 14-15 จากเดิมที่เคยขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน สำหรับอัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์สูง สาเหตุเพราะกลไกควบคุมและส่งเสริมการผลิตอาหารของอินโดนีเซียยังไม่ดีนัก และกระแสชาตินิยมมักทำให้นโยบายเศรษฐกิจถูกบิดเบือนจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความอ่อนแอของรากฐานเศรษฐกิจได้ เช่น การห้ามนำเข้าพืชเกษตรเมืองร้อนจากต่างประเทศทั้งๆ ที่ภายในผลิตได้ไม่เพียงพอ เป็นต้น
4.2 ปี 2557 จะเป็นปีซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไป และเลือกตั้งประธานาธิบดี
ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดตัวผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ได้เป็นอย่างดี เพราะหากประธานาธิบดีคนใหม่ ไม่ใช่นักปฏิรูปเศรษฐกิจ อาจทำให้สังคมอินโดนีเซียเกิดความปั่นป่วนเพราะปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความอ่อนแอของโครงสร้างอาจปะทุขึ้นได้ในช่วงการดำรงตำแหน่ง (5 ปี) และอาจสั่นคลอนความมั่นคงทางการเมือง ทั้งนี้ รายงานทางวิชาการระบุว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนของอินโดนีเซียขยายตัวอย่างมาก โดยหากคิดจาก GDP ของอินโดนีเซียในปี 2556 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 930 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คนร่ำรวยที่สุดในอินโดนีเซียร้อยละ 10 จะมีสัดส่วนใน GDP ดังกล่าวร้อยละ 25 ในขณะที่คนยากจนที่สุดร้อยละ 10 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.3 ในขณะที่ในอนาคตอันใกล้ คนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 จะมีสัดส่วนใน GDP เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในขณะที่คนยากจนที่สุดร้อยละ 10 จะมีสัดส่วนใน GDP ลดลงเหลือร้อยละ 3 ซึ่งการเพิ่มในสัดส่วนของ GDP ร้อยละ 5 ของกลุ่มคนร่ำรวย ให้ค่าความแตกต่างทางสังคมน้อยมาก ในขณะที่การลดส่วนของคนยากจนลงร้อยละ 1 กลับส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ดังนั้น ในอนาคตกระบวนการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม (social cohesion) จึงมีความสำคัญมาก และนโยบายเศรษฐกิจจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของกระบวนการดังกล่าว
4.3 รัฐบาลโดยเฉพาะ ก. คลังภายใต้การนำของนาย Chatib Basri ซึ่งมีพื้นฐานเป็นนักวิชาการและเคยเป็นประธาน BKPM มาก่อนเริ่มแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
เช่น พยายามแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า โดยเน้นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน เช่น การให้ incentive กับธุรกิจที่ลงทุนในด้านนวัตกรรมและการค้นคว้าวิจัย เพื่อให้สามารถผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าแทนการห้ามประชาชนกินใช้ (เช่น ลดการบริโภคข้าวเช่นในอดีต) รวมทั้ง หันมาพยายามปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาที่รากเหง้ามากกว่าจากอาการ เช่น การลดการแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีความสลับซับซ้อน และกฎระเบียบต่างๆ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายที่อาจมีนัยเกี่ยวโยงกับการคอรัปชั่นมาเป็นเวลานาน การปรับปรุงแก้ไขจะต้องใช้เวลายาวนาน และต้องมีความมุ่งมั่นมาก ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่รอการแก้ไขทั้งจากรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งยังเหลือเวลาอีกระยะหนึ่งและรัฐบาลใหม่ ซึ่งรวมถึงทำอย่างไรให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มรู้สึกถึงบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยและหันกลับมาลงทุนเพิ่มอย่างในอดีต
1 ไตรมาส 2/2556 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 9.95พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 4.0ของ GDP ในขณะที่ ไตรมาส 3/2556 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 8.4พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 3.8 ของ GDP
2 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ไตรมาส 1/2556 อยู่ที่ 105.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2/2556 อยู่ที่ 98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไตรมาส 3/2556 อยู่ที่ 92.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 95.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาหตุจากการขายพันธบัตรของรัฐบาล และไตรมาสที่ 4/2556 อยู่ที่ 99.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3 อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 1/2556 ร้อยละ 5.3 ไตรมาส 2/2556 ร้อยละ 5 ไตรมาส 3/2556 ร้อยละ 8.6 (ประกาศลดการอุดหนุนน้ำมัน) และไตรมาส 4/2556 ร้อยละ 8.38
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา