รายงานเศรษฐกิจ ปี 2557

รายงานเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไตรมาส 2/2557

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

1.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไตรมาสที่ 2/2557 ยังคงมีความผันผวน นาย Chatib Basri รมว. คลัง อินโดนีเซีย

คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 2/2557 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโตได้ที่อัตราร้อยละ 5.5 ในปีนี้ แม้ว่ารองผู้ว่าการธนาคารกลาง อินโดนีเซียจะให้สัมภาษณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ อินโดนีเซีย น่าจะต่ำกว่าที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.1-5.5 เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกต่ำ และผลจากนโยบายห้ามส่งออกสินแร่ดิบที่ไม่ผ่านการถลุง

1.2 อินโดนีเซียยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว และยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5 ซึ่งได้ช่วยส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องนับแต่ต้นปีที่ผ่านมา ในเดือน มิ.ย. 2557

อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 6.7 (YoY) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าร้อยละ 7 นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2556 ในขณะที่เมื่อสิ้นเดือน ก.ค. 2557 อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4.53 เท่านั้น ซึ่งอยู่ในระดับอัตราเงินเฟ้อตามที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย กำหนดไว้ที่ระดับร้อยละ 3.5-5.5 สำหรับปีนี้ นอกจากนี้ ทุนสำรอง รวปท. ปรับเพิ่มสูงขึ้น เมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 2557 อินโดนีเซีย มีปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 107.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจาก 102.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นไตรมาส 1/2557 อย่างไรก็ดี อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเปียห์ยังคงผันผวนจากทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก และปัจจัยการเมืองภายใน โดยเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 2557 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 11,969 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากเมื่อสิ้นไตรมาส 1/2557 ซึ่งอัตราอยู่ที่ประมาณ 11,360 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

1.3 ตัวเลขการค้าเมื่อสิ้นเดือน พ.ค. 2557 อินโดนีเซีย ได้ดุลการค้า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวขึ้นจากเดือน เม.ย. 2557 ซึ่งขาดดุลการค้า 1.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สืบเนื่องจากการได้ดุลการค้าสินค้าประเภท non-oil and gas จากการส่งออกสินค้าหลัก เช่น น้ำมันปาล์ม ถ่านหิน ที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการนำเข้าที่ลดลง อย่างไรก็ดี แม้ว่าดุลการค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์ว่าในไตรมาสนี้ อินโดนีเซียจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าร้อยละ 4 ของ GDP จากไตรมาสก่อนที่ขาดดุลเพียงร้อยละ 2.12 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ตามวินัยการคลังของอินโดนีเซียที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ของ GDP และเริ่มเป็นที่กังวลของนักลงทุน ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2/2556 อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีสะพัดถึงร้อยละ 4.4 ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก และส่งผลต่อการอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินรูเปียห์ และกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม

1.4 การลงทุนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง BKPM (Indonesia Investment Coordination Board)

ประกาศตัวเลขการลงทุนประจำไตรมาส 2/2557 ว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 116.2 ล้านล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในจำนวนนี้เป็น FDI 78 ล้านล้านรูเปียห์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.1) และการลงทุนในประเทศ (DDI) 38.2 ล้านล้านรูเปียห์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9) ทั้งนี้ FDI กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมากอีกครั้งหลังจากที่ไตรมาสก่อนขยายตัวเพียงร้อยละ 9.8 ทำให้โดยรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 มีการลงทุนใน อินโดนีเซีย ทั้งสิ้น 222.8 ล้านล้านรูเปียห์ เป็น FDI มูลค่า 150 ล้านล้านรูเปียห์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.3) และ DDI มูลค่า 72.8 ล้านล้านรูเปียห์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7) โดยเป็นการลงทุนในสาขาเหมืองแร่ อุตสาหกรรมอาหาร การขนส่ง และโทรคมนาคม ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุดได้แก่ สป. ญี่ปุ่น มซ. สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

2. มาตรการ/เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้ประกาศนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญในช่วงไตรมาสที่ 2/2557 อาจเป็นเพราะรัฐบาลใกล้หมดวาระ จึงชะลอการประกาศมาตรการใหม่ไว้ รอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาจัดการ นอกจากนี้ ยังมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2557 อย่างไรก็ดี มีเหตุการณ์และมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนี้

2.1 การแต่งตั้งนาย Chairul Tanjung เป็น รมต. ประสานเศรษฐกิจ

- เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2557 นาย Chairul ได้เข้ารับตำแหน่ง รมต. ประสานเศรษฐกิจแทนนาย Hatta Rajasa ซึ่งลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับนายพล Prabowo Subianto ทั้งนี้ นาย Chairul อายุ 52 ปี เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากชุมชนธุรกิจ ดำรงตำแหน่งประธาน คกก. เศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economics Committee – KEN) ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ ปธน. อินโดนีเซีย เป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยเป็นอันดับที่ 18 ของ อินโดนีเซีย เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ CT Group ซึ่งมีหุ้นส่วนในหลายกิจการ อาทิ ช่องโทรทัศน์ TransTV / Trans7 เว็บไซต์ข่าวยอดนิยม detik.com ธนาคาร Mega รวมถึงสายการบินการูด้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตคาร์ฟูร์ นาย Chairul แถลงว่า ในช่วงที่ทำหน้าที่ รมต. ตนต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นฐานเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ดี โดยที่วาระการดำรงแหน่งมีเพียงประมาณ 5 เดือนเท่านั้น จึงเป็นการยากที่จะผลักดันให้เกิดนโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้

2.2 การขึ้นค่าไฟฟ้า

– เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2557 กระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ อินโดนีเซีย ได้ประกาศการลดการสนับสนุนค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะทยอยปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้า ในอัตราประมาณร้อยละ 8.6 และ 13.3 ทุกๆ 2 เดือนจนถึงสิ้นปี สำหรับขนาดกลางและใหญ่ตาม เพื่อให้ครบอัตราร้อยละ 38.9 และร้อยละ 64.7 เมื่อสิ้นปี 2557 นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศใช้การปรับค่าไฟฟ้าอย่างเสรี (automatic tariff adjustment) ตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ 4 ประเภท ไม่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากรัฐ ได้แก่ ครัวเรือนขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดใหญ่ และสถานที่ราชการขนาดเล็ก นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ได้มีการประกาศลดการสนับสนุนค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค. 2557 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 6 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ครัวเรือนขนาดกลาง สถานที่ราชการขนาดกลาง ครัวเรือนขนาดเล็ก (2 ระดับย่อย) และไฟฟ้าสาธารณะ โดยจะทำให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 5-11 ทุกๆ 2 เดือนเช่นเดียวกัน การประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าทั้งสองครั้งดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลประหยัด งปม. ที่ใช้อุดหนุนค่าไฟฟ้าลงประมาณ 20 ล้านล้านรูเปียห์ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งแรกยังคงไม่ส่งผลระยะสั้นต่ออัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซีย แต่คาดว่าน่าจะเห็นผลกระทบชัดขึ้นในไตรมาส 3/2557

3. ข้อคิดเห็น

3.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน

แต่ยังมีหลายดัชนี้ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของอินโดนีเซีย ยังคงเปราะบาง สิ่งที่เป็นที่น่ากังวลที่สุดในขณะนี้ คือการกลับมาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึงร้อยละ 4 ของ GDP ในไตรมาส 2/2557 สูงกว่าระดับร้อยละ 3 ของ GDP ซึ่งเป็นเกณฑ์ตามวินัยการคลังของอินโดนีเซียกำหนดไว้ กอปรกับการคาดการณ์ว่าดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 2557 จะติดลบอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจ อินโดนีเซียยังคงเติบโตไปได้ด้วยมีการบริโภคภายในประเทศที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ

3.2 ปัจจัยทางการเมืองมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในได้ไตรมาสนี้พอสมควร แต่เป็นเพียงความผันผวนระยะสั้น

โดยเฉพาะต่อเงินสกุลรูเปียห์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้สมัครทั้งสองราย คือนาย Joko Widodo (Jokowi) และนายพล Prabowo Subianto มีบุคลิกและแนวนโยบายต่อธุรกิจของต่างชาติที่แตกต่างกัน (แม้ว่าในระหว่างการหาเสียงผู้สมัครทั้งสองรายจะเน้นการส่งเสริมกิจการของคนในประเทศเพื่อผลทางด้านการเมืองก็ตาม) อนึ่ง ผลสำรวจของ Deutsche Bank เมื่อเดือน มิ.ย. 2557 ปรากฏว่า หากนาย Jokowi ได้รับเลือกตั้ง นักลงทุนกว่าร้อยละ 74 ตอบว่าจะขยายการลงทุนใน อินโดนีเซีย ในขณะที่หากนายพล Prabowo เป็นผู้ชนะ มีเพียงร้อยละ 13 ที่จะลงทุนเพิ่ม

3.3 ผลการเลือกตั้ง ปธน. จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย ในครึ่งปีหลังของปี 2557

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 กกต. ได้ประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการว่านาย Jokowi เป็นผู้ได้รับชัยชนะ ในขณะเดียวกัน นายพล Prabowo ได้ออกมาแถลงว่าไม่รับผลการเลือกตั้ง หากสถานการณ์ผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อย และเป็นไปตามผลการเลือกตั้งที่ กกต. ประกาศ น่าจะปัจจัยจิตวิทยาสำคัญที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติในการขยายการลงทุนในอินโดนีเซียมากขึ้น แต่หากมีการยื่นคัดค้านผลการเลือกตั้งในกระบวนการยุติธรรม หรือเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย ซึ่งจะเพิ่มปัจจัยความไม่แน่นอนให้แก่เศรษฐกิจโดยรวม คงเป็นการยากที่อินโดนีเซียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงกว่าที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร รัฐบาลใหม่ของ อินโดนีเซีย ซึ่งจะเริ่มทำหน้าที่ในเดือน ต.ค. 2557 จะต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งมาพร้อมกับการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการลดการอุดหนุนน้ำมันในประเทศ การส่งออกของประเทศที่ต่ำลงอันเป็นผลจากการห้ามส่งออกสินค้าสินแร่ดิบและราคาสินค้าส่งออกในตลาดโลกที่ต่ำลง ทั้งนี้ อินโดนีเซียยังคงจำเป็นต้องปฏิรูปทางโครงสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และจำเป็นต้องเร่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมกับสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับสูงและอย่างยั่งยืนต่อไป

 


4 สิงหาคม 2557
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา