รายงานเศรษฐกิจ ปี 2557

รายงานเศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2557 และคาดการณ์ปี 2558

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

1.1 ตลอดปี 2557 เศรษฐกิจอินโดนีเซียปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากขยายตัวเพียงร้อยละ 5.22 ในไตรมาสที่ 1 (ในขณะที่ไตรมาส 4/2556 ขยายตัว 5.72) และลดลงอีกในไตรมาส 2 และ 3 เหลือเพียง ร้อยละ 5.12 และ 5.01

และในขณะนี้ยังไม่ประกาศตัวเลขการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2557 น่าจะเติบโตรวมทั้งปี เพียงประมาณร้อยละ 5.1 หรือ 5.2 เท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับที่กระทรวงการคลังอินโดนีเซียคาดการณ์ไว้ คือ ร้อยละ 5.1 ซึ่งนับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี สาเหตุน่าจะเป็นทั้งเพราะปัจจัยภายนอกและภายในรุมเร้า ได้แก่

  • การส่งออกที่ลดลงเพราะการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลักของอินโดนีเซียเช่น จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป พร้อมๆ กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียตกต่ำ อาทิ ยาง น้ำมันปาล์ม ถ่านหิน ในขณะที่การนำเข้ากลับปรับตัวสูงขึ้นทั้งการนำเข้าสินค้าประเภททุน และการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าประเภททุนเริ่มชะลอตัวลง เพราะอัตราสั่งซื้อสินค้าลดลง จึงทำให้ดัชนี ภาคการผลิตของอินโดนีเซีย(Market Purchasing Manager Index) ขยายตัวลดลงเช่นกัน เช่น เดือน ธ.ค. ขยายตัวเพียง 47.6 (อัตราที่ต่ำกว่า 50 ถือว่า การขยายตัวหดตัว) แม้จะปรับตัวดีขึ้นในช่วง ม.ค. 2558 เป็น 48.5 แต่ก็ยังถือว่าหดตัว
  • อัตราเงินเฟ้อแม้ทยอยปรับตัวลดลงเรื่อยๆ ในช่วงกลางปี แต่ช่วงปลายปีเนื่องจากรัฐบาลปรับเพิ่มราคาน้ำมันอุดหนุนอัตราเงินเฟ้อจึงปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยตลอดปี 2557 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 8.34 ซึ่งนับว่าเป็นต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เริ่มสูง และน่าจะทำให้กำลังการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญชะลอตัวลง
  • กระแสการเลือกตั้งซึ่งน่าจะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยได้ แต่กลับกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก (ได้เพียงร้อยละ 0.1)
  • ค่าเงินรูเปียห์ผันผวนและอ่อนค่าลงต่อเนื่องสาเหตุจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึงร้อยละ 4 ของ GDP ในช่วงไตรมาสที่ 2 ประกอบกับข่าวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้นักลงทุนคาดหมายว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น จึงทำให้ทะยอยกลับไปถือดอลลาร์สหรัฐฯ จึงทำให้ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงถึง 12,900 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (ช่วงปลายเดือน ธ.ค.) ซึ่งถือว่าอ่อนค่ามากที่สุดนับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1998 และทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงขึ้น (แม้บางฝ่ายอาจมองว่า ภาคการส่งออกน่าจะได้ประโยชน์)

1.2 การค้า –อินโดนีเซียประสบภาวะขาดดุลการค้าต่อเนื่องจากปี 2556 โดยในปี 2557 มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 176.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.42 (YoY)

ต่ำกว่าเป้าที่ ก. การค้าเคยคาดการณ์ไว้ว่า จะส่งออกได้ประมาณ 190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 178.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้า 1.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในภาพรวม ขาดดุลการค้ามากกว่าได้ดุลการค้า ทั้งนี้ สินค้าส่งออกทั้งประเภท oil and gas และ non-oil and gas ลดลงทั้งสองประเภทเพราะราคาในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรปชะลอตัวจึงทำให้ demand ลดลง ดังนั้นแม้ว่า ค่าเงินรูเปียห์จะอ่อนค่าลงก็ไม่ช่วยให้ส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รบ.อินโดนีเซียได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายเหมืองแร่ปี ค.ศ. 2009 ห้ามส่งออกแร่ดิบที่ไม่ผ่านการถลุงหลายชนิดและนำอัตราภาษีที่สูงมาปรับใช้ จึงทำให้หลายบริษัทต้องหยุดส่งออกส่งผลให้การส่งออกสินแร่ลดต่ำลงอย่างมาก (การส่งออกในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2557 ลดลงร้อยละ 71 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)

1.3 การเงินและการคลัง – ปี 2557อินโดนีเซียยังคงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 2

ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึงร้อยละ 4.4 ของ GDP สาหตุประการหนึ่งมาจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคาดว่า เมื่อยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันสถานะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ และคาดว่า สิ้นปี 2557 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3 ของ GDP ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปี 2556 ที่ร้อยละ 3.3 ในขณะที่ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศเริ่มปรับสูงขึ้น สาเหตุเพราะรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายเป็นการลดการแทรกแซงค่าเงิน แต่ปล่อยให้เงินรูเปียห์ปรับตัวหาจุดสมดุลที่เหมาะสมเอง (ปรับตัวตั้งแต่ประมาณ 11,000 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ประมาณ 12,400 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จจากการระดมเงินทุนผ่านการขายพันธบัตรรัฐบาล และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศปรับเพิ่มจาก 99.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2556 เป็น 111.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ ต้องนับว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างมากในการรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อโดยใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาจนอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงเรื่อยๆ จนไตรมาส 3/2557 เหลือเพียงร้อยละ 4-5 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานาธิบดี Jokowi รับตำแหน่ง ก็ได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันในเดือน พ.ย. ส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.36 (YoY) ในเดือน ธ.ค. อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 7.75 ในทันที และเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ประธานาธิบดี Jokowi จึงประกาศยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันอย่างเด็ดขาดในช่วงต้นปี 2558 อย่างไรก็ดี โดยที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลงมาก จึงทำให้ราคาน้ำมันที่ไม่อุดหนุนกลับมาอยู่ในราคาใกล้เคียงกับเดิมที่เคยอุดหนุน (ลิตรละ 6,600 รูเปียห์) ซึ่งผลจากปรับลดราคาน้ำมันและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. ปรับลดลงเหลือประมาณร้อยละ 6.96

1.4 การลงทุน – นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง

โดยปี 2557 ยอดการลงทุนในอินโดนีเซียทั้งหมด 463.1 ล้านล้านรูเปียห์ (37.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 จากปีก่อน เป็นการลงทุนจากต่างชาติประมาณ 307 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 (YoY) และการลงทุนในประเทศประมาณ 156.1 ล้านล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 (YoY) นักลงทุนจากสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งในปี 2557 เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นว่า การขยายตัวของการลงทุนจากต่างชาติแม้ในแง่เม็ดเงินเพิ่มมากขึ้น แต่ในแง่สัดส่วนการขยายตัวกลับไม่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่การลงทุนภายในประเทศกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า นักลงทุนในภาคเหมืองแร่ลดการลงทุนเพิ่มลง อาจเป็นเพราะรัฐบาลออกกฎระเบียบหลายข้อที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน

1.5 นักท่องเที่ยว –ในปี 2557 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนอินโดนีเซียทั้งหมดประมาณ 9.34 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.19

เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในปี 2558 กระทรวงการท่องเที่ยวตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนอินโดนีเซียมากขึ้นเป็น 10 ล้านคน จากนโยบายการอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และรัสเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของอินโดนีเซียเดินทางเข้าอินโดนีเซียโดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา

2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.1 ธนาคารกลางอินโดนีเซียใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเช่นเดียวกับปี 2556

โดยตลอดปี 2557 ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5 จนเมื่อ 18 พ.ย. 2557 จึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 7.75 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อจากการประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุน ซึ่งต้องถือว่า ธนาคารกลางประสบความสำเร็จอย่างมากในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม กลับได้รับการวิจารณ์จากภาคเอกชนว่า ไม่เป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง ทว่าหากคำนึงถึงปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงใดช่วงหนึ่งกลางปีนี้ (หรือปลายปี แล้วแต่ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ) กอปรกับราคาน้ำมันในอินโดนีเซียขณะนี้เป็นแบบลอยตัว หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นก็อาจมีโอกาสทำให้เงินเฟ้อกลับมาเพิ่มสูงได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ววันนี้ แต่อาจจะผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยประเภทอื่นๆ เพื่อช่วยลดภาระการประกอบธุรกิจลง

2.2 การห้ามส่งออกแร่ดิบ – ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2557

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายห้ามการส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการถลุง ได้แก่ นิกเกิล บอกไซต์ โครเมียม ทองคำ เงิน และดีบุก ในขณะที่สินแร่บางชนิด ยังคงส่งออกได้หากผ่านกระบวนการถลุงบางส่วนและมีค่าความบริสุทธิ์ตามกำหนด และหากผู้ประกอบการเหมืองแร่ให้ค่ำมั่นที่จะสร้างโรงถลุง นอกจากนี้ กค.อินโดนีเซียได้ประกาศอัตราภาษีส่งออกสินแร่บางชนิดที่ยังอนุโลมให้ส่งออกได้ในอัตราที่สูง เพื่อเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ประกอบการถลุงแร่ในประเทศก่อนส่งออก การใช้มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกและดุลการค้าของอินโดนีเซียโดยรวม แม้ว่าผู้ประกอบการเหมืองรายใหญ่ คือ เหมือง Freeport และ Newmont จะสามารถบรรลุการเจรจากับ รัฐบาลอินโดนีเซียทำให้มีการผ่อนปรนกฎระเบียบการส่งออกทองแดงลง และสามารถกลับมาส่งออกได้บางส่วนอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2557

2.3 การปรับเพิ่มราคาน้ำมันอุดหนุน และการยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซิน – เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2557

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุนในอัตราลิตรละ 2,000 รูเปียห์ ทำให้ราคาน้ำมันอุดหนุนประเภทเบนซิน (ท้องถิ่นใช้ชื่อว่า Premium) เพิ่มขึ้นจากลิตรละ 6,500 รูเปียห์ เป็น 8,500 รูเปียห์ และน้ำมันอุดหนุนประเภทดีเซล (Solar) เพิ่มขึ้นจากลิตรละ 5,500 รูเปียห์ เป็น 7,500 รูเปียห์ อย่างไรก็ดี ต่อมาได้ประกาศยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันเบนซินทั้งหมด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 เหลือไว้แต่การอุดหนุนน้ำมันดีเซลและน้ำมันก๊าดในอัตราการอุดหนุนแบบคงที่ (fixed subsidy) ที่อัตราลิตรละ 1,000 รูเปียห์ มาตรการดังกล่าวถือเป็นการลอยตัวราคาน้ำมันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียโดยรัฐบาลประกาศว่า มาตรการดังกล่าวทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณได้ถึง 200 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 16.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียจะนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาสังคมอื่นๆ ต่อไป

2.4 นโยบายความมั่นคงทางอาหาร – ปธน. Jokowi ได้ประกาศว่าจะดำเนินนโยบายเพื่อให้อินโดนีเซียมีความมั่นคงทางอาหาร ลดการพึ่งพิงการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศภายในเวลา 3 ปี

โดยเฉพาะข้าว น้ำตาล ถั่วเหลือง ข้าวโพด โดยรัฐบาลจะพัฒนาเขื่อนและระบบชลประทาน และได้เริ่มมอบปัจจัยทางการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และเครื่องมือการเกษตร ให้แก่เกษตรกรที่ยากจน ประธานาธิบดี Jokowi ตั้งเป้าจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เช่น จะสร้างสนามบินใหม่ 15 แห่ง ท่าเรือ 24 แห่ง เขื่อน 49 แห่ง ถนน 2,650 กม. รถไฟ 3,258 ก.ม. และ ทางด่วน 1,000 ก.ม. เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาด้านต่างรวมทั้งการเกษตรและประมง นอกจากนี้ กระทรวงกิจการทางทะเลและประมงร่วมกับกระทรวงการค้าอินโดนีเซียได้ร่างแผนการดำเนินงานเพื่อการผลิตเกลือให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศภายในปี 2558 โดยประกาศใช้พื้นที่ประมาณ 7,000 เฮกตาร์ใน จ. East Nusa Tenggara เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ผลิตเกลือแห่งชาติ

2.5 มาตรการลดขั้นตอนภาครัฐ (one-stop service)

ประธานาธิบดี Jokowi ประกาศจะลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการลงทุน เช่น การลงทุนด้านพลังงาน โดยในการขอใบอนุญาตจะลดลงเหลือ 71 ประเภทจากเดิม 101 ประเภท และจัดตั้ง one-stop integrated services ขึ้น โดยประธานาธิบดีฯ ได้เปิดศูนย์ one-stop service แห่งแรกไปเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2558 ที่สำนักงานของ BKPM (Indonesia’s Investment Coordinating Board) โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ 22 หน่วยงานมาประจำที่ศูนย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน

2.6 นโยบายเศรษฐกิจภายใต้วิสัยทัศน์ maritime axis

ซึ่ง รบ.อินโดนีเซียเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มอัตรารายได้เฉลี่ยต่อหัวของอินโดนีเซียเป็น 10,000 ดอลลาร์สหรัฐในเวลา 5 ปี และยกระดับอินโดนีเซียให้เป็น upper-middle income country โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในทะเล การปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมต่อทางทะเล การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศ

3. คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ปี 2558

ประธานาธิบดี Jokowi ได้ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปี 2558 ไว้ที่ร้อยละ 5.8 และตั้งเป้าว่าในปี 2560 จะเติบโตถึงร้อยละ 7 และในปี 2562 ร้อยละ 8 โดยรัฐบาลจะเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยได้จัดสรรงบประมาณปี 2558 ที่มีเพิ่มขึ้นจากการยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันให้กับรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้ในการลงทุนโครงการต่างๆ อย่างไรก็ดี เป้าหมายดังกล่าวสวนทางกับคาดการณ์ของธนาคารกลางและนักวิเคราะห์อื่นๆ โดยธนาคารกลางคาดว่า ปี 2558 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโตร้อยละ 5.6 สภาหอการค้าและอุตฯอินโดนีเซียคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.2-5.5 ในขณะที่ธนาคารโลกคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.2 และ IMF คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.1 เท่านั้น สาเหตุเพราะการส่งออกจะยังคงประสบปัญหาทั้งจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศและนอกประเทศ และเศรษฐกิจถดถอยในจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับราคาสินค้าที่จะยังคงตกต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในปี 2558 น่าจะทยอยลดต่ำลง โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-5 และรัฐบาลตั้งเป้าว่ายอดการลงทุนในปี 2558 น่าจะเพิ่มเป็น 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 15

4. ข้อคิดเห็น

4.1 เศรษฐกิจปี 2558 ของอินโดนีเซียน่าจะขยายตัวได้มากสุดน่าจะเท่ากับปี 2557 (น่าจะประมาณ ร้อยละ 5.1)

เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริง คือ การลงทุนจากต่างประเทศแม้จะขยายตัวแต่อาจไม่ได้ขยายมากนัก และมีความเป็นไปได้ว่าในปีนี้ (อาจเป็นช่วงกลางปี หรือปลายปี)ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลออกจากอินโดนีเซียซึ่งธนาคารกลางอินโดนีเซียก็จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดึงดูดเงินลงทุนไว้ ก็น่าจะทำให้ในปี 2558 การทำธุรกิจน่าจะไม่ง่ายเพราะต้นทุนน่าจะสูงขึ้น ประกอบกับกำลังการบริโภคต่างๆ ทั้งจากต่างประเทศ และภายในประเทศน่าจะชะลอตัว (อัตราเงินเฟ้อที่สูงจะทำให้กำลังการบริโภคลดลง) อย่างไรก็ตาม หากธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยแบบตึงตัวไว้ ก็เป็นไปได้ว่า ในปี 58 อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงใกล้สู่ภาวะปกติ (คือ ประมาณร้อยละ 4-5)

4.2 คาดว่าในปี 2558 ประธานาธิบดี Jokowi จะเร่งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายใต้วิสัยทัศน์ maritime axis มากยิ่งขึ้น

และน่าจะผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ เริ่มโครงการลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว ซึ่งหากได้สำเร็จ จะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างดี อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าจับตามองว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะสามารถนำงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากการลดการอุดหนุนน้ำมันไปใช้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และจะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบ และการขอใบอนุญาตต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญอีกประการคือ การใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมในธุรกิจประมง ที่ในปัจจุบันกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง พยายามออกกฎระเบียบต่างๆ จำกัดการประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ เช่น การห้ามใช้อวนลาก อวนล้อม การประกาศชะลอการต่อใบอนุญาต ซึ่งหากสุดท้ายนักลงทุนต่างชาติ (รวมทั้งไทย) ไม่สามารถลงทุนต่อในธุรกิจประมงได้ และจะต้องพากันถอนการลงทุนก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสูญญากาศในการลงทุนในธุรกิจประมง เพราะในปัจจุบัน นักธุรกิจอินโดนีเซียยังไม่มีความชำนาญที่จะลงทุนเองทั้งหมดในธุรกิจดังกล่าว และน่าจะทำให้เป้าหมายการเพิ่มรายได้ประชาชาติเป็น 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนของประธานาธิบดีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ตรงกันข้ามประชาชนน่าจะขาดแคลนอาหาร และมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

4.3 ในปี 2557 ไทยได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของอินโดนีเซียใน 2 กรณีหลัก

1.การปราบปรามการทำประมงของเรือประมงต่างชาติในน่านน้ำอินโดนีเซียอย่างผิดกฎหมาย และคาดว่าน่าจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องและมากขึ้นในปี 2558 ตามที่กล่าวในข้อ 4.2

2.การไม่ให้โควต้านำเข้าทุเรียนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 เนื่องจากเป็นฤดูทุเรียนของอินโดนีเซียอย่างไรก็ดี ในปี 2558 กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียได้เคยแจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า จะปรับช่วงการให้โควต้าทุเรียนไทย 6 เดือนให้ตรงกับฤดูกาลผลิตทุเรียนของไทย อย่างไรก็ดี เอกชนไทยยังคงสามารถขยายการลงทุนในอินโดนีเซียได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ บ. PTTGC ร่วมลงทุนกับ Pertamina ได้จัดตั้ง บ. IndoThai Trading เมื่อเดือน ส.ค. 2557 เพื่อส่งเสริมการขยายตลาดโพลีเมอร์ในอินโดนีเซียและห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลได้เปิดสาขาแรกในกรุงจาการ์ตา เมื่อเดือน พ.ย. 2557 โดยตามสถิติของ BKPM ปี 2557 ไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากเป็นลำดับที่ 13 มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 317.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ในปี 2558 ไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของอินโดนีเซียโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอาหาร ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียต้องการลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมายังอินโดนีเซีย


3 กุมภาพันธ์ 2558
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา