รายงานเศรษฐกิจ ปี 2559

ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 3/2559

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ประจำไตรมาส 3/2559

1.1 สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียได้ประกาศอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2559

อยู่ที่ร้อยละ 5.02 ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย (ร้อยละ 5.18) ซึ่งใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ โดยถือว่าอัตราการเติบโตดังกล่าวอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา และมีการตัดลด งปม. รายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของ รมว. คลังอินโดนีเซียจากภาวะการขาดดุล งปม. ใกล้ถึงเพดานที่กฎหมายระบุไว้ที่ร้อยละ 3

1.2 การค้าและการลงทุน

อินโดนีเซียยังคงได้ดุลการค้าอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อินโดนีเซียได้ดุลการค้าประมาณ 5,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าในเดือน ก.ย. 2559 ถือเป็นการได้ดุลการค้าที่สูงสุดในรอบ 13 เดือน ที่มูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุมาจากการส่งออกเหล็กจำนวนมากไปยังออสเตรเลียและไทย โดยกรณีของไทยนั้น เป็นคำสั่งซื้อเหล็กของบริษัท Blue-Scope Thailand เพื่อชดเชยผลผลิตจากโรงงานในไทยที่หยุดทำการชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน อย่างไรก็ดี นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าตลอดช่วง 9 เดือนแรกยังคงลดลงทั้งสองประเภท โดยการส่งออกลดลงร้อยละ 9.4 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 104,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 94,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.09 (YoY) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว ด้านการลงทุนในอินโดนีเซียยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 155.3 ล้านล้านรูเปียห์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 (YoY) ซึ่งอัตราการเติบโตลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนจาก ตปท. 99.7 ล้านล้านรูเปียห์ หรือขยายตัวร้อยละ 10.6 (YoY) ในขณะที่การลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นที่อัตราร้อยละ 18.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 55.6 ล้านล้านรูเปียห์

1.3 การเงินและการคลัง

อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.07 ลดลงจากไตรมาสเดิมที่ร้อยละ 3.45 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลอินโดนีเซียในการกำกับควบคุมราคาสินค้าในช่วงรอมฎอน (เดือน ก.ค.) ได้เป็นอย่างดี ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เงินสกุลรูเปียห์มีความผันผวนอยู่ในช่วง 12,800-13,200 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 3/2559 แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 12,998 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยให้เงินสำรอง รวปท. ของอินโดนีเซียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 115,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยปัจจัยอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเปียห์ที่มีเสถียรภาพ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ (ร้อยละ 1.83) ทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกหลายครั้ง โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.75 เท่านั้น (ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้เริ่มใช้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ หรือ 7-day (Reverse) Repo Rate อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2559 ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรกเริ่มคือร้อยละ 5.25 ก่อนที่ที่ประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซียประจำเดือน ก.ย. 2559 จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 5) เป็นการใช้นโยบายการเงินการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง


2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.1 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในไตรมาสนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 1 ชุด คือ ชุดที่ 13 เน้นการอำนวยความสะดวกการก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรวมถึงการลดจำนวนใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาการขอใบอนุญาต และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการขอใบอนุญาตก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

2.2 การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล

รบ.อินโดนีเซียให้ความสำคัญในการส่งเสริม Fintech และ e-commerce เช่นเดียวกับไทย โดยในช่วงไตรมาสนี้ ได้แต่งตั้งนาย Jack Ma เป็นที่ปรึกษาด้าน e-commerce และได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ สนับสนุนผู้ลงทุนในสาขาดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียและ OJK (Financial Services Authority) อยู่ระหว่างการจัดตั้ง Fintech Office และ Regulatory Sandbox เพื่อกำกับดูแลธุรกรรมทางการเงินของสาขาธุรกิจดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น

2.3 การปรับลด งปม. รายจ่ายภาครัฐ

รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามแก้ไขปัญหาการขาดดุล งปม. ซึ่งสูงขึ้นใกล้อัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 โดย ปธน. Jokowi ได้ออกมายอมรับว่าได้ตั้งเป้ารายได้ภาษีไว้สูงเกินไป และไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า ซึ่งต่อมาได้มีคำสั่ง ปธน. ตัดลด งปม. รายจ่ายของรัฐลง 137 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 10,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) พร้อมกับตัดเงินอุดหนุนการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นลง 19.4 ล้านล้านรูเปียห์ และตัดเงินอุดหนุนกองทุนหมู่บ้าน และการจัดสรร งปม. พิเศษอื่นๆ ลงอีก 36.8 ล้านล้านรูเปียห์ ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดลด งปม.โครงการก่อสร้างในส่วนภูมิภาคและส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัด ทั้งนี้ รมว. คลังอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า การปรับลด งปม. รายจ่ายของรัฐลงครั้งนี้ จะช่วยให้เมื่อสิ้นสุดปี งปม. 2559 (31 ธ.ค. 2559) การขาดดุล งปม. จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5

2.4 Tax Amnesty

การดำเนินนโยบายนิรโทษกรรมทางภาษีในระยะแรกได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2559 (ระยะสองจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2560) โดยมีผู้ที่ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการและยื่นแบบแจ้งรายการสินทรัพย์ของตนแก่ทางการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 421,000 ราย (รวมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 3,860 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 297,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และทำให้ รบ.อินโดนีเซียได้รับค่าปรับเข้าเป็นเงินคงคลังประมาณ 97 ล้านล้านรูเปียห์ ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยด้านที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ มูลค่าทรัพย์สินที่มีการยื่นแจ้งต่อภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 96 ของเป้าที่รัฐบาลวางไว้ที่ 4,000 ล้านล้านรูเปียห์ ในขณะที่รายได้ของรัฐจากค่าปรับคิดเป็นร้อยละ 59 ของเป้าที่วางไว้ที่ 165 ล้านล้านรูเปียห์ อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินที่มีการนำกลับจาก ตปท. ยังคงมีน้อยกว่าเป้าที่วางไว้มาก โดยมีผู้นำทรัพยสินกลับจาก ตปท. ภายใต้โครงการนี้เพียง 142.5 ล้านล้านรูเปียห์ หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 14.3 ของเป้าที่วางไว้ที่ 1,000 ล้านล้านรูเปียห์เท่านั้น และทรัพย์สินส่วนมากที่มีการยื่นแจ้งเป็นทรัพย์สินใน ปท.


3. ข้อคิดเห็น

3.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียน่าจะยังคงเจริญเติบโตอยู่ในระดับนี้ต่อไปในไตรมาส 4/2559

และน่าจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอินโดนีเซียของทั้งปี 2559 อยู่ในช่วงอัตราร้อยละ 4.9-5 ตามที่สถาบันการเงินและนักวิเคราะห์เอกชนคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวเช่นเดิม อย่างไรก็ดี สินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกสำคัญของอินโดนีเซียหลายชนิด มีแนวโน้มราคาที่ดีขึ้น อาทิ ถ่านหิน และปาล์มน้ำมัน ซึ่งน่าจะช่วยให้รายได้จากการส่งออกดีขึ้น และโดยที่เป็นไตรมาสสุดท้ายของปี งปม. หากภาครัฐสามารถเร่งการเบิกจ่าย งปม. ได้เต็มที่ น่าจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง แม้ว่าอาจจะไม่ส่งผลมากเนื่องจากหน่วยงานและโครงการต่างๆ ถูกตัดลด งปม. ลงก็ตาม

3.2 โครงการ Tax Amnesty ในช่วงแรกนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ

โดยเฉพาะในแง่ของการเพิ่มฐานภาษีของรัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่สำคัญในการปฏิรูปภาษีของรัฐบาลอินโดนีเซียต่อไปในอนาคต [1] โดยจากการวิเคราะห์จากแหล่งต่างๆ พบว่าสาเหตุที่ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมโครงการนี้เป็นอย่างมากเกิดมาจาก

  1. ความเชื่อมั่นต่อตัว ปธน. Jokowi และ รมว. คลังอินโดนีเซียซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นในนโยบายนี้
  2. อัตราภาษีที่ต้องจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 2-4 เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก
  3. ประชาชนมีความเกรงกลัวต่อการแบ่งปันข้อมูลผู้เสียภาษีระหว่างประเทศต่างๆ (Automatic Exchange of Information) ภายใต้กรอบ OECD ซึ่งอินโดนีเซียจะเริ่มใช้ในปี 2561 ซึ่งหากตรวจสอบพบภายหลัง อาจมีความผิดและต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่านี้มาก
  4. รัฐบาลอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการเชิญชวนให้นักธุรกิจรายสำคัญหลายคนเข้าร่วมโครงการ

อย่างไรก็ดี แนวโน้มผลของโครงการ Tax Amnesty ในช่วง 2 น่าจะได้รับความสนใจน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากอัตราภาษีที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อย 3-10 และจากเหตุการณ์ประท้วงผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา และความรุนแรงต่อชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน เป็นปัจจัยความเสี่ยงในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้มีฐานะดี อาจพิจารณาไม่นำทรัพย์สินในต่างประเทศของตนกลับเข้าอินโดนีเซียตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียคาดหวังไว้

3.3 เหตุการณ์การประท้วงทางศาสนา และความรุนแรงต่อชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน

ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2559 ต่อผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา หากมีความยืดเยื้อหรือมีพัฒนาการไปในเชิงลบ จะส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะต่อภาคการท่องเที่ยวและต่อการลงทุนของต่างประเทศ



  • [1] อินโดนีเซียมีจำนวนผู้เสียภาษีเพียง 27 ล้านคนจากประชากรกว่า 255 ล้านคน และมีสัดส่วนรายได้จากภาษีต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 11 เท่านั้น (ไทย สป. มซ. ฟป. อยู่ที่ประมาณร้อยละ 14-17)


16 พฤศจิกายน 2559
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา