รายงานเศรษฐกิจ ปี 2559
ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2559 และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560
1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ประจำไตรมาส 4/2559
1.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2559 ยังคงขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับปี 2558 โดยขยายตัวเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 5 ตลอดทุกไตรมาส
ซึ่ง รัฐบาลอินโดนีเซียคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปี 2559 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5-5.1 (ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 4.79 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี) ซึ่งทางการอินโดนีเซียและนักวิเคราะห์เอกชนบางรายมองว่าเป็นสัญญาณบวก เนื่องจากสะท้อนว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยจากปีก่อนมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน ภาคการผลิตและภาคครัวเรือนยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งใจ เนื่องจากประสบปัญหาการขาดดุล งปม. และทำให้ต้องตัดรายจ่ายและการลงทุนจำนวนมาก
1.2 การค้าและการลงทุน
อินโดนีเซียยังคงได้ดุลการค้าต่อเนื่องจากปี 2558 โดยได้ดุลต่อเนื่องทุกไตรมาส ซึ่งทั้งการส่งออกและนำเข้าต่างลดลงทั้งคู่ แต่การนำเข้าลดลงมากกว่า โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2559 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 130,652 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.63 (YoY) ในขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 122,858 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.94 (YoY) โดยการส่งออกและนำเข้าสินค้าประเภท oil and gas และ non-oil and gas ลดลงทั้งสองประเภท สะท้อนว่ามีเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบในการผลิตลดลง อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินโดนีเซียเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มการลงทุนตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ โดยตั้งเป้าการลงทุนปี 2559 ไว้ที่ 594 ล้านล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 535 ล้านล้านรูเปียห์ (ทั้ง FDI และ DDI)
1.3 การเงินและการคลัง
ถือได้ว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียพัฒนาดีขึ้นพอสมควร โดย
-
อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของ GDP ในไตรมาส 3/2559 และคาดว่าจะขาดดุลลดลงอีก เนื่องจากการนำเข้าลดลงและได้ดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง
-
ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 116,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปีก่อนอยู่ที่ 105,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
-
รัฐบาลอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก โดยตลอดปีอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.45 ในไตรมาส 1/2559 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.02 เมื่อสิ้นปี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดนับแต่ปี 2555 ทั้งนี้ ความสำเร็จในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากความสำเร็จในการควบคุมราคาอาหาร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเปียห์เปลี่ยนแปลงอยู่ในกรอบ 13,000-14,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อสิ้นปี 2559 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 13,436 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนที่อัตรา 13,795 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินสกุลรูเปียห์อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 5 ในช่วงปลายปี 2559 จากปัจจัยความมั่นคงในประเทศ ผลการเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เงินทุน ตปท. ไหลออกจากตลาดอินโดนีเซียจำนวนมาก อย่างไรก็ดี นโยบายนิรโทษกรรมภาษีได้เป็นปัจจัยช่วยดึงเงินตรา ตปท. กลับเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียทำให้เงินสกุลรูเปียห์ไม่อ่อนค่ามากเกินไปนัก
1.4 การท่องเที่ยว
ระหว่างเดือน ม.ค. – พ.ย. 2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนอินโดนีเซียทั้งหมดประมาณ 10.4 ล้านคน ซึ่งคาดว่าตลอดปี 2559 จะมีนักท่องเที่ยวเยือนอินโดนีเซียใกล้เคียงเป้าที่รัฐบาล วางไว้ที่ 12 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด หรือประมาณ 1.8 ล้านคน
2. นโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
2.1 ปธน. ได้ตัดสินใจปรับ ครม. ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ ได้แก่
- การแต่งตั้งนาง Sri Mulyani เป็น รมว. คลัง ซึ่งได้รับการตอบรับจากเอกชนและประชาชนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ปธน. Jokowi ให้ความไว้วางใจในนาง Sri Mulyani มาก โดยได้มอบหมายภารกิจสำคัญเร่งด่วน คือ การบริหาร งปม. ภาครัฐซึ่งกำลังขาดดุลอย่างหนัก จากการตั้ง งปม. รายรับไว้สูงเกินความเป็นจริง และการดำเนินนโยบาย Tax Amnesty รวมถึงการปฏิรูปภาษีในอนาคต และ
- การย้ายนาย Tom Lembong รมว. การค้า ไปดำรงตำแหน่ง ปธ. BKPM และแต่งตั้งนาย Enggartiasto Lukita เป็น รมว. การค้าแทน โดยนาย Tom เป็น รมว. ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคธุรกิจ เนื่องจากมีแนวคิดสมัยใหม่และเสรีนิยม ซึ่งทำให้ขัดกับ รมว. การเกษตร และ รมว. อื่นที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ในขณะที่นาย Enggar เป็นนักการเมืองอาชีพ การปรับตำแหน่ง รมว. การค้าครั้งนี้จึงทำให้แนวนโยบายเศรษฐกิจอินโดนีเซียกลับไปเป็น protectionism มากขึ้นอีกครั้ง
2.2 การเงิน-การคลัง
ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้เปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้มาตรการการคลังเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งตลอดปี และมาอยู่ที่ร้อยละ 4.75 เมื่อสิ้นปี (จากเดิมร้อยละ 7.5 เมื่อสิ้นปี 2558) เพื่อกระตุ้นสินเชื่อและการลงทุน
2.3 Tax Amnesty
ถือเป็นนโยบายสำคัญของ ปธน. Jokowi ในปี 2559 โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถนำเงินทุนกลับเข้าประเทศได้มากถึง 1,000 ล้านล้านรูเปียห์ ทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มเติม 165 ล้านล้าน รูเปียห์ (ประมาณ 12,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะช่วยให้ภาวะการขาดดุล งปม. ดีขึ้น ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2559 ซึ่งสิ้นสุดช่วงที่ 2 ของโครงการรัฐบาลอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในแง่มูลค่าการยื่นแสดงทรัพย์สิน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 612,000 คน รวมมูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 321,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เกินกว่าที่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าไว้ และได้รับการยกย่องว่าเป็นโครงการ tax amnesty ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ของการนำทรัพย์สินกลับเข้ามาลงทุนในประเทศยังคงต่ำกว่าเป้ามาก โดยมีทรัพย์สินที่นำกลับเข้ามาเพียง 140.5 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะที่รัฐบาล ตั้งเป้าไว้สูงถึง 1,000 ล้านล้านรูเปียห์
2.4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน
ในปี 2559 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาทั้งสิ้น 6 ชุด (ชุดที่ 9-14) โดยชุดที่สำคัญคือชุดที่ 10 ว่าด้วยการทบทวนอัตราส่วนการลงทุนของต่างชาติ (Negative Investment List) ซึ่งแม้ว่าในภาพรวมจะดูเหมือนอินโดนีเซียเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นใน 35 สาขา อาทิ สาขา e-commerce ร้านอาหาร การให้บริการสาธารณสุข แต่ในขณะเดียวกันก็ลดสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติลงใน 20 สาขาเช่นกัน ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรม และประชาชนไม่รับรู้ถึงผลจากมาตรการดังกล่าวมากนัก โดยอาจมีสาเหตุมาจากการขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน หรือขาดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการนำไปปฏิบัติจริง อีกทั้งบางมาตรการเป็นอาจเห็นผลในระยะยาวมากกว่า
2.5 การส่งเสริมการท่องเที่ยว
รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศยกเว้นการตรวจลงตราให้ผู้ถือ นสดท. เพิ่มเติม รวมเป็น 169 ประเทศ (รวมจีน) โดยสามารถพำนักในอินโดนีเซียได้ไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเยือนอินโดนีเซีย 20 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2019 และมุ่งหวังว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตัวใหม่ ชดเชยภาคการผลิตที่เติบโตลดลง
3. คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ปี 2560
รัฐบาลอินโดนีเซียคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปี 2560 ไว้ที่ร้อยละ 5.3 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภายในประเทศ การลงทุน (ส่วนหนึ่งจากการนำทรัพย์สินกลับเข้ามายังอินโดนีเซียภายใต้โครงการ tax amnesty) ตลอดจนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าราคาสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ถ่านหิน จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2559 ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของอินโดนีเซียปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียปรับลดเป้าการขยายตัวของการส่งออกในปี 2560 ลงมาที่ร้อยละ 5.6 จากเดิมตั้งไว้สูงถึงร้อยละ 11.9 ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในเรื่องอื่นๆ นั้น คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 จะสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยอาจขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4-5 จากการยกเลิกการอุดหนุนค่าไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนขนาดกลางกว่า 28 ล้านครัวเรือนต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น และราคาน้ำมันซึ่งเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไว้เท่าปี 2559 คือ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-5 ด้านการลงทุนนั้น BKPM ตั้งเป้าการลงทุนในปี 2560 จะขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับปี 2559 คือ เติบโตร้อยละ 14 จากปีก่อน
4. เศรษฐกิจทวิภาคี
ในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. 2559 อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทย (อันดับที่ 3 ในอาเซียนรองจากมาเลเซียและสิงคโปร์) โดยไทยได้ดุลการค้าอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศคิดเป็น 13,328 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.58 การส่งออกจากไทยมายังอินโดนีเซียมีมูลค่าประมาณ 7,535 ล้านดอลลารสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.16 (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 5,793 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.82 (YoY) ในสาขาประมงนั้น ในปี 2559 มีเรือประมงไทยถูกทางการอินโดนีเซียจับกุมเพียง 1 ลำเท่านั้น (เรือ Sor Kunyakit ถูกจับกุมเมื่อ 6 พ.ค. 2559) และไม่มีเรือไทยถูกจมแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ทางการอินโดนีเซียยังคงไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซียเช่นเดิม ในด้านการลงทุน ภาคเอกชนไทยยังคงสามารถขยายการลงทุนในอินโดนีเซียได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ห้างสรรพสินค้า Central ได้เปิดสาขาที่ 2 Neo Soho กรุงจาการ์ตาเมื่อ 8 ก.ย. 2559 บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล (EGATi) ได้เข้าซื้อหุ้น บ. Adaro Indonesia ซึ่งประกอบกิจการเหมืองถ่านหิน ประมาณร้อยละ 11.5 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ11,700 ล้านบาท และบริษัท EGCO ร่วมกับ บ. Star Energy Group และ AC Energy Holdings ของ ฟป. ได้ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับกลุ่มบริษัท Chevron ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพใน จ. ชวาตะวันตก โดยเป็นการถือหุ้นทางอ้อมร้อยละ 20
5. ข้อคิดเห็น
5.1 รัฐบาลอินโดนีเซียประสบความสำเร็จระดับหนึ่งจากความพยายามในการปฏิรูปและสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ
โดยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 แม้จะต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลวางไว้ แต่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน และอยู่ในระดับที่สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีความมั่นคงขึ้นกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมาก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุล งปม. อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป อย่างไรก็ดี เห็นว่ารัฐบาลอินโดนีเซียยังคงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางเศรษฐกิจของตน และไม่สามารถใช้กลไกการใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียประสบปัญหาการตั้ง งปม. รายจ่ายเกินตัว ทำให้ต้องตัดลดรายจ่ายภาครัฐและการลงทุนขนาดใหญ่ลงไป ซึ่งเป็นผลให้ไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ดี โดยที่สินค้าส่งออกสำคัญของอินโดนีเซียมีแนวโน้มราคาดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ปาล์มน้ำมัน การลงทุนยังคงขยายตัวตามเป้า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น หากรัฐบาลอินโดนีเซียยังคงเดินหน้าในการปฏิรูปและคงเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจไว้ได้ คาดว่า ในปี 2560 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโตได้มากกว่าปี 2559 เล็กน้อย แต่คงเป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะสามารถขยายตัวได้ถึงระดับร้อยละ 7-8 ดังที่เคยเป็นมาในอดีต
5.2 ปี 2560 จะมีประเด็นที่ท้าทายและน่าจับตามองต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอินโดนีเซียหลายประการ อาทิ
- การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและนโยบายเศรษฐกิจของ ปธน. สหรัฐฯ คนใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินรูเปียห์ และจะทำให้อินโดนีเซียมีพื้นที่นโยบายด้านการเงินการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง
- ปัจจัยด้านความมั่นคงและความขัดแย้งในประเทศโดยเฉพาะความตึงเครียดจากความแตกต่างทางศาสนา ซึ่งในช่วงปี 2559 มีการชุมนุมประท้วงใหญ่และเหตุการณ์บานปลายจนเกิดความรุนแรง และความเสี่ยงด้านการก่อการร้าย ทั้งนี้ โดยคำนึงว่า ความมั่นคงทางการเมืองได้ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนของอินโดนีเซียมาโดยตลอดนับแต่ยุค ปธน. SBY
- ความไม่แน่นอนเรื่อง งปม. รัฐและรายได้จากภาษีจะยังคงมีอยู่ เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียไม่น่าจะสามารถบรรลุเป้าการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมตามที่ตั้งเป้าไว้จากโครงการ tax amnesty ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่รัฐบาลอินโดนีเซียอาจต้องตัดลด งปม. รายจ่ายภาครัฐลงอีกในปี 2560 นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษีเพิ่มเติมเพื่อหารายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งเอกชนบางรายเรียกว่าเป็นการ “รีดเลือดกับปู” เนื่องจากภาครัฐพยายามหารายได้ภาษีเพิ่มจากฐานภาษีเดิม ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2559 มีกรณีที่สำคัญคือการเรียกเก็บภาษีรายได้จากการโฆษณาของ บ. Google และ Facebook ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่สามารถหาข้อยุติลงได้ แต่หากผลการเจรจาเป็นไปในเชิงลบ อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา