รายงานเศรษฐกิจ ปี 2564
สถิติเศรษฐกิจและการลงทุนในอินโดนีเซีย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 (เดือนเมษายน - มิถุนายน 2564)
1. เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 2/64
1.1 GDP ในไตรมาส 2/64 ขยายตัวร้อยละ 7.7 yoy
(สูงกว่าที่นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.72) และร้อยละ 3.31 Q-to-Q ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ ในครึ่งแรกของปี 64 อยู่ที่ร้อยละ 3.10 yoy โดย GDP ณ ราคาปัจจุบัน (current price) มีมูลค่า 290.5 พันล้าน USD และ GDP ณ ราคาคงที่ (constant price) โดยคำนวนจากปีฐาน พ.ศ. 2553 มีมูลค่า 192.9 พันล้าน USD ซึ่งถือว่าเป็น การเติบโตรายไตรมาสที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 และเป็นการขยายตัวครั้งแรกหลังเศรษฐกิจอินโดนีเซียหดตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน
1.2 ปัจจัยสนับสนุนสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในช่วงดังกล่าว
ได้แก่ (1) การควบคุมโรคโดยใช้มาตรการ PPKM Micro ที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างมาตรการสาธารณสุข และเศรษฐกิจ โดยยังอนุญาตให้มี การเดินทางข้ามจังหวัด และกระจายวัคซีนของอินโดนีเซีย (2) การจัดสรรงบประมาณ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ (National Economic Recovery Program - PEN) ในด้านสาธารณสุข การคุ้มครองทางสังคม โครงการเร่งด่วน ธุรกิจและ MSMEs และการให้สิทธิประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งปรับเพิ่มงบประมาณ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากเดิม 48.4 พันล้าน USD เป็น 51.8 พันล้าน USD ซึ่งปัจจุบันใช้จ่ายงบประมาณ ไปแล้วร้อยละ 41.02 และ (3) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าหลักของอินโดนีเซียซึ่งส่งเสริมธุรกิจส่งออกของอินโดนีเซีย
1.3 ธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในไตรมาส 2/64
อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ (1) ธุรกิจขนส่งและคลังสินค้า เติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 25.10 yoy หลังจากที่หดตัวถึงร้อยละ 13.12 yoy ในไตรมาส 1/64 (2) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เติบโตร้อยละ 21.58 yoy หลังจากหดตัวร้อยละ 7.6 yoy ในไตรมาส 1/64 (3) ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เติบโตร้อยละ 11.62 yoy (4) การค้า เติบโตร้อยละ 9.44 yoy จากที่หดตัวร้อยละ 1.23 yoy ในไตรมาส 1/64 (5) ไฟฟ้าและก๊าซ เติบโตร้อยละ 9.09 yoy (6) ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตในภาพรวม เติบโตร้อยละ 6.58 yoy เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/64 ที่หดตัวร้อยละ 1.38 yoy โดยธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ เติบโตร้อยละ 3.37 yoy เพิ่มจากไตรมาส 1/64 ที่หดตัวร้อยละ 7.70 yoy และ (7) ธุรกิจเกี่ยวกับเหมืองแร่ เติบโตร้อยละ 5.22 yoy อนึ่ง ธุรกิจที่เติบโตน้อยที่สุดในไตรมาสนี้คือเกษตรกรรม ซึ่งเติบโตที่ร้อยละ 0.38 yoy (ลดลงจากร้อยละ 3.33 yoy ในไตรมาสที่ 1/64)
1.4 การบริโภคครัวเรือนอินโดนีเซีย
เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93 yoy โดยมีดัชนีค่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 82.14
1.5 การส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการ
เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.78 yoy และ 31.22 yoy ตามลำดับ โดยการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นคือ แร่พลังงาน เหล็กและเหล็กกล้า และเครื่องจักรกลไฟฟ้าและอุปกรณ์ และการนำเข้าสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นคือเครื่องจักรกล การบิน เครื่องจักกรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า และพลาสติก
1.5.1 การค้าระหว่างไทย – อินโดนีเซีย ในเดือน ม.ค. – มิ.ย. 64 มีมูลค่า 8.29 พันล้าน USD
โดยไทยส่งออกไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 4.119 พันล้าน USD และนำเข้าจากอินโดนีเซียมูลค่า 4.179 พันล้าน USD ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 60.20 ล้าน USD
1.5.2 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ในช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย. 64
ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) เม็ดพลาสติก (3) เคมีภัณฑ์ (4) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และ (5) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
1.5.3 สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ในช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย. 64
ได้แก่ (1) น้ำมันดิบ (2) ถ่านหิน (3) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (4) เคมีภัณฑ์ และ (5) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
2. การลงทุนในไตรมาส 2/64
2.1 มีมูลค่า 15.4 พันล้าน USD ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 yoy
ประกอบด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 7.99 พันล้าน USD (เติบโตขึ้นร้อยละ 16.2 yoy) และการลงทุนภายในประเทศ (DDI) มูลค่า 7.34 พันล้าน USD (เติบโตขึ้นร้อยละ 12.7) ทำให้มูลค่าการลงทุนในครึ่งแรกของปี 64 อยู่ที่ 30.6 พันล้าน USD คิดเป็นร้อยละ 49.2 ของเป้าหมายมูลค่าการลงทุนที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียตั้งไว้สำหรับปี 64 (900 ล้านล้าน IDR หรือประมาณ 62.2 พันล้าน USD) โดยธุรกิจที่มีการลงทุนมากที่สุด (DDI + FDI) 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างสำนักงานและโรงงาน การผลิตเหล็กกล้าและสินค้าจากเหล็กกล้า และธุรกิจขนส่ง/คลังสินค้า/การสื่อสารโทรคมนาคม
2.2 ผู้ที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด 5 ลำดับแรกในไตรมาสที่ 2/64
ได้แก่ (1) สิงคโปร์ 21.1 พันล้าน USD (ร้อยละ 26.4) (2) ฮ่องกง 1.4 พันล้าน USD (ร้อยละ 18.1) (3) เนเธอร์แลนด์ 1.1 พันล้าน USD (ร้อยละ 13.8) (4) ญี่ปุ่น 700 ล้าน USD (ร้อยละ 9) และ (5) จีน 6 ร้อยล้าน USD (ร้อยละ 8) โดยธุรกิจที่ได้รับ FDI มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การผลิตเหล็กกล้าและสินค้าจากเหล็กกล้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เหมืองแร่ การขนส่ง/คลังสินค้า/การสื่อสารโทรคมนาคม โดยมีการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดใน จังหวัดชวาตะวันตก มูลค่า 1.6 พันล้าน USD คิดเป็นร้อยละ 19.8 ของการลงทุนทั้งหมดใน ไตรมาสนี้
2.3 การลงทุนของไทย
ไทยเป็นประเทศที่ลงทุนในอินโดนีเซียมากเป็นอันดับที่ 11 เป็นมูลค่า 90.6 ล้าน USD สำหรับไตรมาสที่ 2 และลงทุนมากเป็นอันดับที่ 10 ในครึ่งแรกของปี 64 มูลค่า 318.9 ล้าน USD
2.4 อัตราดอกเบี้ย
ณ วันที่ 22 ก.ค. 64 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 และ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 64 อินโดนีเซียมีเงินทุนสำรอง 137.093 ล้าน USD
ที่มา :
- https://www.bps.go.id/pressrelease/2021/08/05/1813/ekonomi-indonesia-triwulan-ii-2021-tumbuh-7-07-persen--y-on-y-.html
- https://setkab.go.id/en/indonesia-posts-7-07-economic-growth-in-q2-of-2021/