รายงานเศรษฐกิจ ปี 2565

สถิติเศรษฐกิจและการลงทุนในอินโดนีเซีย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 (เดือนเมษายน - มิถุนายน 2565)

1. เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 2/65

1.1 ขยายตัวร้อยละ 5.44 yoy

ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 (ร้อยละ 5.01) ทั้งนี้ GDP สำหรับไตรมาส 2/65 มีมูลค่า 333 พันล้าน USD

1.2 การขยายตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัยทั้งภายนอก และภายในประเทศ

กล่าวคือ (1) การส่งออกของอินโดนีเซียยังไปได้ดี และสินค้าส่งออกที่สำคัญของอินโดนีเซียมีราคาสูงขึ้นในตลาดโลกเนื่องจากวิกฤติพลังงาน ราคาสินค้า/อาหารที่สูงขึ้นทั่วโลก สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ และเงินเฟ้อ (น้ำมันปาล์ม ถ่านหิน) (2) นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจปลายน้ำที่ห้ามการส่งออกวัตถุดิบบางส่วนที่ยังไม่ได้แปรรูป อาทิ นิกเกิล (3) สถานการณ์ COVID-19 ที่ทุเลาลง ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียผ่อนคลายนโยบายการเดินทางทั้งระหว่างประเทศ และภายในประเทศ ทำให้การขนส่ง/logistics/การค้าการลงทุนขยายตัว และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย. 65 ที่ 743,210 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,250.65 yoy โดยในเดือน มิ.ย. 65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 345,000 คน (4) การจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล Eid al Fitri ที่เป็นช่วงวันหยุดยาวที่ชาวอินโดนีเซียออกเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดช่วงหนึ่งของปี โดยปี 65 เป็นปีแรกนับแต่สถานการณ์ COVID-19 ที่รัฐบาลอินโดนีเซียผ่อนคลายมาตรการให้เฉลิมฉลองมากที่สุด (5) นโยบายการรักษากำลังการใช้จ่ายของประชาชน โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้เพิ่มการให้เงินอุดหนุน (subsidy) เพื่อตรึงราคาพลังงาน และ (6) รัฐบาลอินโดนีเซียยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงชาวอินโดนีเซียที่ประกอบกิจการ MSMEs อย่างต่อเนื่อง โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการให้ธนาคารกลาง (Bank Indonesia - BI) คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในห้วงดังกล่าว

1.3 อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายเห็นว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับแรงหนุนอย่างมาก

จากการส่งออกสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นจากสถานการณ์โลก ซึ่งหากตัดปัจจัยที่ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นออก การขยายตัวของเศรษฐกิจก็น่าจะยังไม่สามารถเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ได้ รวมทั้งปัจจุบันหลายประเทศ เริ่มมีนโยบายลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และ safeguard measures ต่างๆ เพื่อป้องกันการไม่ให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาในประเทศของตนมากเกินไปและกระทบกับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่กำลังฟื้นตัวจาก COVID-19


2. การลงทุนในไตรมาส 2/65

2.1 มีมูลค่ารวม 302.2 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 20.08 พันล้าน USD)

ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 qoq และร้อยละ 35.5 yoy โดยทำให้เกิดการจ้างงานชาวอินโดนีเซียเพิ่ม 3.2 แสนคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 qoq และร้อยละ 2.8 yoy)

2.2 ในไตรมาสนี้อินโดนีเซียได้รับ

(1) การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 163.2 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 10.8 พันล้าน USD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 qoq และร้อยละ 39.7 yoy และ (2) การลงทุนภายในประเทศ (DDI) มูลค่า 139 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 9.2 พันล้าน USD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 qoq และร้อยละ 30.8 yoy โดยธุรกิจที่มีการลงทุนมากที่สุด (DDI + FDI) 5 อันดับแรก คือ (1) ธุรกิจเหล็กกล้า การแปรรูปและผลิตสินค้าจากเหล็กกล้าที่ไม่ใช่เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ (2) ธุรกิจเหมืองแร่ (3) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (4) ธุรกิจขนส่ง/คลังสินค้า/การสื่อสารโทรคมนาคม และ (5) ธุรกิจอาหาร

2.3 ผู้ที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด 5 ลำดับแรกในไตรมาสที่ 2/65

ได้แก่ (1) สิงคโปร์ 3.1 พันล้าน USD (ร้อยละ 27.7) (2) จีน 2.3 พันล้าน USD (ร้อยละ 20) (3) ฮ่องกง 1.4 พันล้าน USD (ร้อยละ 11.9) (4) ญี่ปุ่น 9 ร้อยล้าน USD (ร้อยละ 8.1) และ (5) สหรัฐอเมริกา 8 ร้อยล้าน USD (ร้อยละ 6.8) ทั้งนี้ ไทยอยู่ในอันดับที่ 16 โดยลงทุนไปประมาณ 45 ล้าน USD ใน 79 โครงการ

2.4 การลงทุนระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย. 65

ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียมั่นใจว่าการดึงดูดการลงทุนผ่านนโยบายต่าง ๆ (SEZ G20 ฯลฯ) รวมถึงการประกาศเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำ และห้ามส่งออกแร่ดิบที่สำคัญ เป็นการดำเนินนโยบายไปในทิศทางที่ถูกต้อง และจะดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะการแปรรูปแร่และถ่านหินให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นก่อนส่งออก โดยระหว่างการเยือน สหรัฐอเมริกานั้น ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้พบหารือกับ CEO ของบริษัท Air Products & Chemicals ที่เคย ลงนามใน MoU เกี่ยวกับการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง Dimethyl Ether (DME) หรือ coal gastification เพื่อเร่งรัดให้บริษัทดังกล่าวเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย โดยเร็ว อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่บังคับใช้ในช่วงปลายเดือน เม.ย. 65 ที่ผ่านมา อาจกระทบต่อ การลงทุนของต่างชาติในไตรมาส 2/65 ไม่มากก็น้อย

2.4.1 มีมูลค่ารวม 584.6 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 38.8 พันล้าน USD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 yoy และคิดเป็นร้อยละ 60.4 ของเป้าหมายดึงดูดการลงทุนตามแผน National Medium-Term Development (RPJMN) ปี ค.ศ. 2020-2024 (ตั้งเป้าหมายรับเงินลงทุนไว้ 968.4 ล้านล้าน IDR หรือ 64.3 พันล้าน USD) และร้อยละ 48.7 ของเป้าหมายที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียตั้งไว้สำหรับการดึงดูดเงินลงทุนสำหรับปี 2565 (ตั้งเป้าหมายไว้ 1,200 ล้านล้าน IDR หรือประมาณ 79.7 พันล้าน USD)

2.4.2 ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 ธุรกิจที่มีการลงทุนมากที่สุด (DDI + FDI) 5 อันดับแรก คือ (1) ธุรกิจเหล็กกล้า การแปรรูปและผลิตสินค้าจากเหล็กกล้าที่ไม่ใช่เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ (2) ธุรกิจเหมืองแร่ (3) ธุรกิจขนส่ง/คลังสินค้า/การสื่อสารโทรคมนาคม (4) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (และ (5) ธุรกิจอาหาร และพื้นที่ที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) จ. สุลาเวสีกลาง (2) จ. ชวาตะวันตก (3) กรุงจาการ์ตา (4) จ. มะลูกูเหนือ และ (5) จ. บันเตน

2.4.3 ผู้ที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด 5 ลำดับแรกในครึ่งแรกของปี 65 ได้แก่ (1) สิงคโปร์ 6.7 พันล้าน USD (ร้อยละ 31.1) (2) จีน 3.6 พันล้าน USD (ร้อยละ 16.8) (3) ฮ่องกง 2.9 พันล้าน USD (ร้อยละ 13.4) (4) ญี่ปุ่น 1.7 พันล้าน USD (ร้อยละ 8.1) และ (5) สหรัฐอมเริกา 1.4 พันล้าน USD (ร้อยละ 6.5) ทั้งนี้ ไทยอยู่ในอันดับที่ 17 โดยลงทุนไปประมาณ 104 ล้าน USD ใน 173 โครงการ

2.5 การที่อินโดนีเซียได้รับ FDI เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.7 yoy ในไตรมาส 2/65

ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียมั่นใจว่าการดึงดูดการลงทุนผ่านนโยบายต่าง ๆ ควบคู่กับนโยบาย economic nationalism/ protectionism เป็นการดำเนินนโยบายไปในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า อัตรา การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1/65 เพียงร้อยละ 0.47 เท่านั้น ซึ่งยังไม่ตรงกับเป้าหมายเชิงนโยบายของอินโดนีเซียที่ต้องการเพิ่มการจ้างงานชาวอินโดนีเซียเป็นหลัก


ที่มา :