รายงานเศรษฐกิจ ปี 2565

สถิติเศรษฐกิจและการลงทุนในอินโดนีเซีย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 (เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565)

เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 4/65

1.1 ขยายตัวร้อยละ 5.01 yoy

ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในไตรมาสนี้ยังเติบโตน้อยกว่า ในไตรมาส 3/65 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5.73 yoy เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งทำให้กำลังการใช้จ่ายของประชาชนในห้วงปลายปีถดถอยลง เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย โดย GDP (at current price) มีมูลค่า 5,114.9 ล้านล้าน IDR (337.9 พันล้าน USD) และ GDP (at constant price) มีมูลค่า 2,988.6 ล้านล้าน IDR (197.4 พันล้าน USD)

1.2 ธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในไตรมาส 4/65

อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจขนส่งและโกดังสินค้า เติบโตร้อยละ 16.99 yoy และธุรกิจที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 13.81 ซึ่งทำให้เห็นว่าในภาพรวม การเดินทางและการขนส่ง รวมถึงการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 65 ที่รัฐบาลอินโดนีเซียผ่อนคลายมาตรการสาธารณสุข และส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศมากขึ้น


2. การลงทุนในไตรมาส 4/65

2.1 มีมูลค่ารวม 314.8 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 21.04 พันล้าน USD)

ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 QoQ และร้อยละ 30.3 YoY ทำให้เกิดการจ้างงานชาวอินโดนีเซียเพิ่ม 3.39 แสนคน

2.2 ในไตรมาสนี้อินโดนีเซียได้รับ

(1) การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 175.2 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 11.7 พันล้าน USD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 QoQ และร้อยละ 43.3 YoY และ (2) การลงทุนภายในประเทศ (DDI) มูลค่า 139.6 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 9.3 พันล้าน USD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 QoQ และร้อยละ 17 YoY

2.3 ธุรกิจที่มีการลงทุนมากที่สุด (DDI + FDI) 5 อันดับแรก คือ

(1) ธุรกิจเหมืองแร่ 2.65 พันล้าน USD (2) ธุรกิจเกี่ยวกับการแปรรูปโลหะ/สินค้าโลหะที่ไม่ใช่เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ 2.63 พันล้าน USD (3) ธุรกิจขนส่ง/คลังสินค้า/การสื่อสารโทรคมนาคม 2.45 พันล้าน USD (4) ธุรกิจเคมีภัณฑ์และยา 2.23 พันล้าน USD และ (5) ธุรกิจบ้าน อสังหาริมทรัพย์ด้านอุตสาหกรรม และสำนักงาน 1.9 พันล้าน USD

2.4 ผู้ที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด 5 ลำดับแรกในไตรมาสที่ 4/65 ได้แก่

(1) จีน 3 พันล้าน USD (2) สิงคโปร์ 2.7 พันล้าน USD (3) ฮ่องกง 1.6 พันล้าน USD (4) มาเลเซีย 1.1 พันล้าน USD และ (5) สหรัฐอเมริกา 9 ร้อยล้าน USD ทั้งนี้ ไทยอยู่ในอันดับที่ 16 โดยลงทุนไปประมาณ 68 ล้าน USD ใน 139 โครงการ


ที่มา :