รายงานเศรษฐกิจ ปี 2560

ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 1/2560

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

1.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 5.01 ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 4.92

โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนของภาคเอกชน และการส่งออกซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจัยลบมาจากกำลังการซื้อภาคครัวเรือนที่ลดลง เนื่องจากการปรับขึ้นค่าไฟ ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกอินโดนีเซีย(Association of Indonesian Retailers) ได้คาดการณ์ว่า มูลค่าการขายปลีกในไตรมาส 1/2560 มีแนวโน้มที่จะลดลงเหลือเพียง 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ อัตราการปล่อยสินเชื่อของธนาคารก็อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนยังคงลังเลที่จะลงทุนในสินเชื่อบ้านหรือรถยนต์/รถจักรยานยนต์

1.2 การค้าและการลงทุน

อินโดนีเซียยังคงได้ดุลการค้าต่อเนื่องจากปี 2559 โดยได้ดุลการค้า 3.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2560 มีมูลค่า 40,607 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.84 (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ 36,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.19 (YoY) ด้านการลงทุนนั้น ในไตรมาสนี้ การลงทุนเติบโตในอัตราร้อยละ 13.2 (YoY) อย่างไรก็ดี ในจำนวนดังกล่าว FDI เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.9 เท่านั้น เป็นอัตราการเติบโตรายไตรมาสของ FDI ที่ต่ำมาก (ไตรมาสก่อนเติบโตที่ร้อยละ 2.1)

ในขณะที่ DDI เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ โดยตั้งเป้าการลงทุนปี 2560 ไว้ที่ 678 ล้านล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 612 ล้านล้านรูเปียห์ (รวม FDI และ DDI)

1.3 การเงินและการคลัง

ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง และยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.75 ต่อเนื่องกันมานับแต่เดือน ต.ค. 2559 โดยเห็นว่ายังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดโลก และเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเชื่อว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนค่อนข้างแน่นอน โดยในไตรมาสนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.61 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2559 จากราคาหัวหอม น้ำมันพืช และค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเปียห์ค่อนข้องมีเสถียรภาพ เมื่อ 31 มี.ค. 2560 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 13,321 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อปลายปี 2559 อยู่ที่ 13,436 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ)


2. นโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.1 Tax Amnesty

โครงการนิรโทษกรรมทางภาษีของ รัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งเริ่มดำเนินการเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2559 ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 โดยผลลัพธ์ของการดำเนินการเป็นดังนี้

 

เป้าหมาย
(ล้านล้านรูเปียห์)

ยอดจริง
(ล้านล้านรูเปียห์)

ร้อยละ

มูลค่าการยื่นแสดงทรัพย์สิน
- ในประเทศ
- ต่างประเทศ

4,000
-
-

4,866
3,676
1,031

121.38

มูลค่าทรัพย์สินที่นำกลับมาลงทุนใน ปท.

1,000

147

14.7

เงินภาษีที่เก็บได้

165

135

81.82

จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ (คน)

2,000,000

921,744

46.09

จากผลการดำเนินโครงการดังกล่าวจะเห็นได้ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียประสบความสำเร็จอย่างมากในการรณรงค์ให้ประชาชน/บริษัทยื่นแสดงทรัพย์สิน โดยมูลค่าการยื่นแสดงทรัพย์สินกว่า 4,866 ล้านล้านรูเปียห์ เทียบเท่ากับร้อยละ 40 ของ GDP ของอินโดนีเซียโดยประมาณ ซึ่งทำให้ทั้ง รัฐบาลและประชาชนอินโดนีเซียโดยทั่วไปตระหนักถึงความจริงที่ว่า ที่ผ่านมาฐานภาษีและทรัพย์สินที่ยื่นแสดงภาษีของอินโดนีเซียต่ำกว่าความเป็นจริงมาก (ในปี 2559อินโดนีเซียมีผู้ยื่นเสียภาษีเพียงประมาณ 10 ล้านคนเท่านั้น) อย่างไรก็ดี เงินภาษีที่เก็บได้แม้จะต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ แต่น่าจะช่วยให้ รัฐบาลอินโดนีเซียมีเงินไปใช้จ่ายในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น และช่วยลดภาระการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของ ปท. ไปได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของนโยบายดังกล่าวคือการปฏิรูประบบภาษีของประเทศ และเพื่อเตรียมการสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติ (Automatic Exchange of Information) เชื่อมโยงฐานข้อมูลการเสียภาษีกับระบบธนาคารระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2561

2.2 การขยายเวลาการอนุโลมการส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการถลุงบางชนิด

เมื่อ ม.ค. 2560 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขยายเวลาการอนุโลมการส่งออกสินแร่บางชนิดที่ยังไม่ผ่านการถลุง และอนุโลมการส่งออกสินแร่เพิ่มเติม ได้แก่ นิกเกิล บอกไซต์ เป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ประกอบการจะได้รับอนุญาตการส่งออกภายใต้เงื่อนไข เช่น จะต้องสร้างโรงถลุงแร่ภายใน 5 ปี ต้องเปลี่ยนใบอนุญาตจากประเภท contract of work เป็นใบอนุญาตแบบพิเศษ (IUPK) ซึ่งให้สิทธิประโยชน์แก่ นักลงทุนน้อยลง และจะต้องระบายหุ้นให้นักลงทุนท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 51 ภายใน 10 ปี ซึ่งผลจากการเปลี่ยนกฎระเบียบดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้บริษัท Freeport Indonesia ของสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินกิจการเหมืองทองแดงและทองคำที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียใน จ. ปาปัวตะวันตก จำเป็นต้องระงับการส่งออกไประยะหนึ่ง เนื่องจากยังคงไม่สามารถเจรจากับ รัฐบาลอินโดนีเซีย เกี่ยวกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้สำเร็จ และบริษัทฯ ได้แจ้งทางการอินโดนีเซียว่าบริษัทฯ มีสิทธิที่จะนำคดีเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการหากไม่สามารถบรรลุการเจรจาได้ภายใน 17 มิ.ย. 2560 โดยขณะนี้ทางการอินโดนีเซียได้อนุโลมให้บริษัทฯ สามารถส่งออกสินแร่ได้ชั่วคราว

2.3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงไม่ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมนับแต่ พ.ย. 2559 แม้ว่าได้ออกมาให้ข่าวหลายครั้งว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่จะเน้นเรื่องการขนส่ง การพัฒนาเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน หรือ ธุรกิจ e-commerce เป็นต้น



16 พฤษภาคม 2560
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา