รายงานเศรษฐกิจ ปี 2560
ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 4/2560
1. เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 4/2560
ขยายตัวที่ร้อยละ 5.19 เพิ่มจากอัตราการขยายตัวช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.06 (YoY) โดยปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การส่งออก
ที่เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายของภาครัฐและการอุปโภคของภาครัฐในไตรมาสนี้ อุตสาหกรรมที่ขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง
ขนส่ง และสารสนเทศ ทั้งนี้ในช่วงดังกล่าวการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเน้นอยู่ที่ สุลาเวสี มาลุกู และปาปัว โดยการเติบโตที่จังหวัดชวา บาหลี และกาลิมันตัน ได้ชะลอตัวลง
1.1 การค้าและการลงทุน
ในไตรมาส 4/2560 อินโดนีเซียได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 0.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกในไตรมาส 4/2560 มีมูลค่า 45.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.49 (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 44.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 (YoY) ในด้านการลงทุนปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/60 การลงทุนมีมูลค่า 179.6 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 12.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เติบโตในอัตราร้อยละ 12.7 (YoY) โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)
เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 (YoY) ขณะที่การลงทุนในประเทศ (Domestic Direct Investment: DDI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 (YoY)
ในภาพรวมการลงทุนของปี 2560 มีการลงทุนเป็นมูลค่ารวม 692.8 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 48.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ซึ่งเกินเป้าที่ สำนักงานส่งเสริมการลงทุนอินโดนีเซีย (Coordinating Investment Board: BKPM) ตั้งไว้สำหรับปี 60 ที่ 678.8
ล้านล้านรูเปียห์ ในการนี้การลงทุนในไตรมาสนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้พยายามเปิดโอกาสกว้างต่อขยายตัวทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วยการลดกฎเกณท์ต่าง ๆ (deregulation)
1.2 การเงินและการคลัง
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4.25 ในส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยในไตรมาสนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.61 อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาล อินโดนีเซียกำหนดไว้สำหรับปี 60 ที่ร้อยละ 4 (±1%) ทั้งนี้สำหรับปี 61 รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดปรับลดเกณฑ์สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.5 (±1%) ในส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเปียห์อ่อนตัว (depreciate) ด้วยปัจจัยภายนอก โดยอัตราแลกเปลี่ยนในปี 60 เฉลี่ยอยูที่ 13,537 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปรับลดลงร้อยละ 1.51
2. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2560 และแนวโน้มในปี 2561
2.1 ในปี 2560 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย
โดยรวมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.07 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างดี เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไม่ถึงระดับ
ดังกล่าวตั้งแต่ ปี 2556 เป็นต้นมา ทั้งนี้ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ยังถื่อว่าโตไม่เร็วเท่ากับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปี 2560 ได้แก่ ภาคการผลิต การก่อสร้าง การค้า และการเกษตร นอกจากนี้ โดยรวมการส่งออกของอินโดนีเซียได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นด้วย
2.2 ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2561 ได้แก่
- การไหลเข้าของเงินทุน (capital inflow) สืบเนื่องจากการยกระดับความน่าเชื่อถือของ อินโดนีเซีย ในการจัดอันดับของ Fitch Ratings ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
- ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity prices) ปรับตัวดีขึ้น ซี่งจะส่งผลกระทบในเชิงบวกแก่ภาคการส่งออกของอินโดนีเซีย
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งจะส่งเสริมการลงทุน
- การใช้จ่ายของภาครัฐ
ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- การบริโภคในครัวเรือนยังคงอ่อนตัวลง ซึ่งเป็นองค์ประกอบการเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจอินโดนีเซีย กว่าร้อยละ 50
- รายได้ภาษีจะไม่ไปตามเป้าที่กำหนดไว้
- แนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อ อินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน (fuel) และน้ำมันดิบ (crude oil) เป็นต้น
2.3 ล่าสุด ธนาคารกลางของอินโดนีเซีย
คาดการณ์ว่า ในปี 61 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย จะเติบโตที่ร้อยละ 5.1-5.5 ในส่วนของ World Bank, International Monetary Fund (IMF), และ Asian Development Bank (ADB) คาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโตที่ร้อยละ 5.3
3. นโยบายเศรษฐกิจสำคัญสำหรับปี 61
3.1 นโยบายด้านการเกษตร
รัฐบาลอินโดนีเซียประสงค์ที่ส่งเสริมภาคการเกษตร โดยเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต โดยภาคเกษตรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการเติบโตทาง เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซีย ให้ความสำคัญเรื่องนี้ รวมถึงการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร อินโดนีเซีย ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งเสริมเกษตรแบบกลุ่ม (clusters) ซี่งเน้นการปลูกสินค้าเกษตรตามภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ อินโดนีเซีย ยังคงมีความท้าทายในผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉลี่ยในอินโดนีเซียมีไร่จำนวน 0.6 เฮกตาร์ต่อเกษตกร ซึ่งน้อยกว่า 1.8 เฮกตาร์/เกษตรกร และ 3 เฮกตาร์/เกษตรกร ใน ฟป. และปทท. ตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย เห็นว่า การส่งเสริมเกษตรแบบกลุ่มจะช่วยให้เกษตรกรอินโดนีเซียทำงานร่วมกันและเรียนรู้เทคนิคการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลการผลิต นอกจากการส่งเสริมการเกษตรแบบกลุ่มแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรอินโดนีเซีย ด้วย
3.2 โครงสร้างพิ้นฐาน
รัฐบาลอินโดนีเซีย ยังคงให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุนในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ตามโครงการภายใต้ National Strategic Projects ที่ตั้งขึ้นโดย ปธน. Jokowi เมื่อปี 59 และระบุโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการต่าง ๆ อาทิ การสร้างเขื่อน ถนน รถไฟ ท่าเรือ ฯลฯ จำนวน 248 โครงการ โดยล่าสุดมีเพียง 26 โครงการเท่านั้นที่เสร็จสิ้นลงแล้ว หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 9.5 ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนที่จะส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอินโดนีเซีย โดยจะเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องให้กับนักลงทุนต่างชาติ ในเวทีต่าง ๆ เช่น การประชุม Indonesia-Africa Forum (IAF) ที่บาหลี ระหว่าง 10-11 เมษายน 2561 รวมทั้งการประชุม IMF-World Bank ที่จะจัดขึ้นที่บาหลีในเดือนตุลาคม 2561 เป็นต้น
3.3 การเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ
ในการประชุม ออท. กสญ. ผทถ. อินโดนีเซียทั่วโลก เมื่อกุมภาพันธ์ 2561 ปธน. Jokowi ได้มอบนโยบายการทูตเชิง เศรษฐกิจในการแสวงหาตลาดใหม่ และตลาดที่มีศักยภาพที่ อินโดนีเซีย ยังเข้าไม่ถึง เช่น ปากีสถาน และบังกลาเทศ รวมทั้ง เข้าไปยังแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ และมีการเจริญเติบโตสูง โดยล่าสุด อินโดนีเซียได้จัด การประชุม IAF เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเวทีเพื่อการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ระหว่าง อินโดนีเซียและ ประเทศแอฟริกา โดยในปี 2559 การค้าระหว่าง อินโดนีเซียและแอฟริกา
มีมูลค่า 8.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.49 จากปี 2559 ซึ่ง อินโดนีเซียมองว่ามีโอกาสเพิ่มพูนความร่วมมือทาง เศรษฐกิจกับแอฟริกามากยิ่งขึ้นต่อไป