รายงานเศรษฐกิจ ปี 2560
ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 2/2560
1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไตรมาส 2/2560
ในไตรมาส 2/2560 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.01 ลดลงจากอัตราการขยายตัวในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.18 (YoY) โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวมากที่สุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ คมนาคมและขนส่ง ก่อสร้าง และการเงิน ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย คือ การลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง และโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ดี อัตราการบริโภคของครัวเรือนและการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงชะลอตัว และภาคการส่งออกโดยเฉพาะในเกาะชวา ซูลาเวสี และกาลิมันตัน ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะการฟื้นตัว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า หากภาคส่งออกและการบริโภคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น พร้อมด้วยการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตได้ถึงร้อยละ 5.1- 5.5 ในปี 2561
1.1 การค้าและการลงทุน
ในไตรมาส 2/2560 อินโดนีเซียได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 3.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกระหว่าง เม.ย.-มิ.ย. 2560 มีมูลค่า 39.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าอยู่ที่ 35.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.55 (YoY) ภาคส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 4.9-5.3 โดยราคาถ่านหินและน้ำมันปาล์มดิบจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าทั้งสองเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอินโดนีเซียในด้านการลงทุน มีการลงทุนเป็นมูลค่า 170.9 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 122 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เติบโตในอัตราร้อยละ 12.7 (YoY) โดยการลงทุนโดยตรงจาก ตปท. (Foreign Direct Investment -FDI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 (YoY) ขณะที่การลงทุนใน ปท. (Domestic Direct Investment -DDI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 (YoY) ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนตามที่ตั้งไว้ที่ 678.8 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 485.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 612 ล้านล้าน รูเปียห์ (ประมาณ 437.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (รวม FDI และ DDI)
1.2 การเงินและการคลัง
ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงที่ร้อยละ 4.25 โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยในไตรมาสนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.88 เป็นไปตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดไว้สำหรับปี 2560 ที่ร้อยละ 4 (±1%) ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเปียห์ค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยในไตรมาส 2/2560 อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น (appreciate) อยู่ที่ 13,309 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมในไตรมาส 1/2560 อยู่ที่ 13,348 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปรับเพิ่มร้อยละ 0.29
2. นโยบายและมาตรการเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซีย
2.1 นโยบายเศรษฐกิจ
เมื่อ 31 ส.ค. 60 ปธน. Jokowi ได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจฉบับที่ 16 (16th Economic Policy Package) โดยเป็น Presidential Regulations ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการประสานงานระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่
นักลงทุน รวมทั้ง เร่งดำเนินการออกใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ โดยจะดำเนินนโยบายดังกล่าวในสองระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ การออกใบอนุญาตในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตการค้าเสรี และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ และการบริหารข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และระยะที่ 2 เป็นการปฏิรูปกฎระเบียบทางธุรกิจ เช่น ลดขั้นตอนในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และ การจัดตั้งระบบฐานข้อมูลอย่างครบวงจร (one stop service)
2.2 การระดมทุนโครงสร้างพื้นฐาน
รัฐบาลอินโดนีเซียมุ่งเน้นการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เท่าเทียมทั่วทั้ง ปท. แต่มีข้อจำกัดเรื่องการจัดหาเงินทุน ทั้งนี้ เมื่อ 17 ก.พ. 60 Ministry of National Development Planning: PPN / Bappenas ของ อินโดนีเซียได้เสนอการระดมทุนในรูปแบบ Non-Government Budget Investment Financing (PINA) มีแหล่งที่มาของทุนจาก capital investment ของสถาบันการเงิน และการจัดหาเงินทุนที่ถูกกฎหมายอื่น ๆ โดยมีเกณฑ์ว่า ต้องเป็นโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาเมือง มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์
มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของอินโดนีเซียและต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการ
2.3 การส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
รัฐบาลของ ปธน. Jokowi ให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยครึ่งแรกของปี 2560 การท่องเที่ยว อินโดนีเซีย เติบโตร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 20 ล้านคนต่อปี ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป (ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวประมาณ 11 ล้านคนต่อปี) ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนในสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ในนาม “New Balis” ประกอบด้วย 10 แห่ง ได้แก่
- (1) Lake Toba (North Sumatra)
- (2) Belitung (Babel)
- (3) Tanjung Lesung (Banten)
- (4) Thousand Islands (Jakarta)
- (5) Borobudur (Central Java)
- (6) Mount Bromo (East Java)
- (7) Mandalika Lombok (West Nusa Tenggara)
- (8) Komodo Island (Lesser Sunda Islands)
- (9) Wakatobi National Park (Southeast Sulawesi)
- (10) Morotai (North Maluku)
โดยสถานที่เหล่านี้ยังถือว่าด้อยพัฒนา จึงเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้าลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงไฟฟ้า ทางด่วน ท่าอากาศยาน และท่าเรือ เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์ของการส่งเสริม “New Balis” คือ การปรับให้สถานที่เหล่านี้เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญใอนาตตคล้ายกับ Nusa Dua ที่บาหลี