รายงานเศรษฐกิจ ปี 2560
ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 3/2560
1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไตรมาส 3/2560
จากข้อมูลของธนาคารกลางอินโดนีเซีย เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาส 3/2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.06 เพิ่มจากอัตราการขยายตัวช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.01 (YoY) โดยปัจจัยสนับสนุนได้แก่ การส่งออกที่เพิ่มขึ้น การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุน และการอุปโภคของภาครัฐและการใช้จ่ายของภาครัฐก็ปรับตัวดีขึ้น อุตสาหกรรมที่ขยายตัวมากที่สุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต
โรงแรมและร้านอาหาร และภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตและก่อสร้างได้ขยายตัวอย่างมากในสุมาตรา ชวา บาหลี สุลาเวสี
และกาลิมันตัน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในปี 2560
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.1
1.1 การค้าและการลงทุน
ในไตรมาส 3/2560 อินโดนีเซียได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 3.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกในไตรมาส 3/60 มีมูลค่า 43.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.07 (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 40.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.94 (YoY) ในด้านการลงทุน ปรับตัวดีขึ้น มีการลงทุนเป็นมูลค่า 176.6 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เติบโตในอัตราร้อยละ 13.7 (YoY) โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 (YoY) ขณะที่การลงทุนในประเทศ (Domestic Direct Investment: DDI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 (YoY) ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนตามที่ตั้งไว้ที่ 678.8 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 485.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับปี 2560
1.2 การเงินและการคลัง
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4.25 ในส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยในไตรมาสนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.72 อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดไว้สำหรับปี 2560 ที่ร้อยละ 4 (±1%) ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุล
รูเปียห์อ่อนตัว (depreciate) ด้วยปัจจัยภายนอก
โดยอัตราแลกเปลี่ยนในเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ 13,528 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉลี่ยปรับลดลงร้อยละ 1.63
2. มาตรการเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซียในปี 2560
2.1 นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของ ปธน. Jokowi
ในบทสัมภาษณ์ของนาง Sri Mulyani รมว.คลัง อินโดนีเซีย ได้กล่าวว่า รัฐบาลของ ปธน. Jokowi ได้ดำเนินการปฏิรูปมาตรการ ศก. ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2560 และจะดำเนินมาตรการดังกล่าวการต่อไป โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและ
การเติบโตอย่างทั่วถึง (inclusive growth) ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้มีการลงทุนบริหารทุนมนุษย์และการลงทุนในโคร้งสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาอินโดนีเซีย ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดสรรร้อยละ 25 ของงบประมาณภาครัฐ ในด้านการศึกษา
ด้านสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งได้นำไปสู่พัฒนาการต่าง ๆ อาทิ การก่อสร้าง/ปรับปรุงห้องเรียนจำนวน 30,000 ห้อง
นักศึกษากว่า 320,000 คน ได้รับทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา ประชากรกว่า 92 ล้านคน มีบัตร Indonesia Health Card
เพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาล ครัวเรือนกว่า 6 ล้าน แห่งได้รับผลประโยชน์จากโครงการคุ้มครองทางสังคมของอินโดนีเซียและประชาชนอินโดนีเซียมีไฟฟ้าใช้มากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ electrification program
ของรัฐบาลอินโดนีเซีย
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีความแข่งขันมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลอินโดนีเซียจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 410 พันล้านรูเปียห์ (30.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ สนามบินและโรงไฟฟ้า อนึ่งงบ Village Fund ของรัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับ
รากหญ้าและช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างเกาะต่างๆ ในอินโดนีเซีย โดยช่วยลดค่าขนส่งและปรับลดราคาสินค้าในเกาะห่างไกล ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางรายได้ของอินโดนีเซียด้วย อย่างไรก็ดี เป้าหมายสำคัญสุดของรัฐบาล Jokowi คือ
การพัฒนาอย่างทั่วถึง โดยมาตรการพัฒนา ศก.ในระยะ 3 ปี ที่ ปธน. Jokowi ดำรงตำแหน่งได้ส่งผลให้ระดับความยากจนปรับลงร้อยละ 10.7 และค่าจินี (Gini ratio) ได้ปรับตัวดีขึ้นจากเดิม 0.41 เป็น 0.39 โดยในปี 2561 อินโดนีเซีย ตั้งเป้าค่าจินีที่ 0.38
2.2 การยอมรับปธน. Jokowi ในระดับนานาชาติ
มาตรการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ของ ปธน. Jokowi ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เห็นได้จากการปรับตัวดีขึ้นของการจัดสถานะ อินโดนีเซียในรายงาน Ease of Doing Business ของ World Bank โดยอินโดนีเซียอยู่ในระดับ 72 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 91
ในปีก่อน ซึ่งสูงกว่าประเทศ BRICS ส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ตามรายงาน WEF Global Competitiveness Index 2017-2018 ระดับการแข่งขันของ อินโดนีเซียก็ได้ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2560 อินโดนีเซีย อยู่ในอันดับ 36 (ปทท. อยู่อันดับ 32)
นอกจากนี้ ในรายงาน Government at a Glance สำนักงาน OECD ได้จัดทำ World Gallup Poll และรายงานว่าอินโดนีเซียมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากที่สุดในจำนวนเหล่า ปท. ที่ OECD ได้ทำการสำรวจโดยร้อยละ 80 ของประชากรอินโดนีเซียมีความเชื่อมั่นใน รัฐบาลนี้